ไม่ว่าการฟื้น “พรรคเพื่อธรรม”จะเป็นไปเพื่อเป็นพรรคสำรองหากว่า “พรรคเพื่อไทย” ถูกยุบ หรือจะเป็นเพื่อดำเนินตามยุทธวิธีแยก กันเดินตามยุทธศาสตร์ใหญ่

ล้วนเป็นความรอบคอบ ล้วนเป็นสิทธิอันชอบที่จะต้องดำเนิน

หาก “พรรคเพื่อไทย”ยังต้องการที่ยืนในทางการเมือง

เพราะว่าบทเรียนจากพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551 เด่นชัด เพราะว่าบทเรียนจากพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 เด่นชัด สัมผัสได้

ในเมื่อพรรคเพื่อไทยคือ อวตารแห่งพรรคพลังประชาชนและ พรรคไทยรักไทย มีหรือที่จะดำรงอยู่อย่างเป็นเป้านิ่งหรือกระสอบทราย

ยิ่งกว่านั้นเมื่อเครือข่ายแห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกปปส.ต่างกระจายกันเคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะผ่านพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะผ่านพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะผ่านพรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ว่าจะผ่านพรรคประชาชนปฏิรูป

มีหรือที่พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรอันแนบแน่นอย่างนปช.จะอ่านไม่ออก

แค่เห็น “รัฐธรรมนูญ”ก็ควรรู้แล้วว่าจะทำอย่างไร

การกระจายออกไปยังพรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ ย่อมมีความจำเป็น

ยิ่งเมื่อตรวจสอบท่าทีผ่านพรรคประชาชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ ที่ร้องเพลงเดียวกันที่จะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการล้มลวงผลพวงอันเลวร้ายจากพิษของรัฐประหาร ยิ่งตระหนักในความเป็น”พันธมิตร”

เพราะนี่คือ “แนวร่วม”ในการต้านยัน “คสช.”

ยิ่งโรดแม็ป”เลือกตั้ง”ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 มีความแจ่มชัดและแน่นอนมากเพียงใดการก่อรูปของพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองก็ยิ่งมีความแจ่มชัด

นั่นก็คือ จะเอารัฐประหาร หรือไม่เอารัฐประหาร จะเอาคสช.หรือไม่เอาคสช.

ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐาน “การศึกมิหน่ายเล่ห์”

ไม่ว่าจะมองจาก “คสช.” ไม่ว่าจะมองจาก”เพื่อไทย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน