จีที 200

 

คดีการหลอกลวงขายเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิดและยาเสพติด รุ่นจีที 200 ที่มีต้นตอจากผู้ผลิตในอังกฤษ ซึ่งศาลอังกฤษตัดสินจำคุกผู้เกี่ยวข้องไปตั้งแต่ปี 2556 และสั่งยึดทรัพย์สินเกือบ 400 ล้านบาท เมื่อปี 2559

คดีนี้เกี่ยวข้องในไทยมาเป็นเวลานานเช่นกัน และเกิดการเปรียบเทียบกับคดีทุจริตอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์การเมือง

การจัดซื้อจีที 200 ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกองทัพบก จัดซื้อมารวม 12 ครั้ง ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 2550 – 30 ก.ย. 2552 รวม 757 เครื่อง มูลค่ารวม 682,600,000 บาท

กรมราชองครักษ์ จัดซื้อรวม 3 ครั้ง 8 เครื่อง มูลค่า 9,000,000 บาท ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในปี 2551-2552

ส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จัดซื้อ 3 ครั้ง มูลค่ารวม 6,800,000 บาท

ล่าสุดคดีมีความคืบหน้าในกระบวนการศาล เมื่อศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาแล้วให้จำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้องจากบริษัทเอกชน ในฐานะผู้จัดจำหน่าย

ระบุว่าเป็นการหลอกขายเครื่องแก่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยอวดอ้างสรรพคุณ ว่ามีประสิทธิภาพใช้ใน 25 ประเทศทั่วโลก ค้นหาได้ทั้งยาเสพติด ระเบิด อาวุธที่ถูกซุกซ่อนได้ในระยะไกลกว่า 500 เมตร ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ใช้ ฯลฯ

คำตัดสินดังกล่าวต่อเนื่องจาก 2 สำนวนก่อน ซึ่งจำเลยมีความผิดรับโทษจำคุก และร่วมกันชดใช้เงินคืนกองทัพบก และกรมราชองครักษ์ ตอกย้ำว่า ในส่วนของผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายเครื่องจีที 200 มีความผิด

พร้อมกับทิ้งคำถามไว้ให้ภาคการเมืองว่า ฝ่ายผู้ซื้อจะต้องโดนพิจารณาอย่างไร

การจัดซื้อสิ่งของโดยใช้งบประมาณของรัฐแต่ของนั้นๆ ใช้การไม่ได้ถือเป็นความเสียหายหนึ่ง เพราะเท่ากับนำเงินประชาชนไปใช้อย่างไม่รอบคอบ

แม้ว่าสมาชิกในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยให้ความเห็นว่า การจะวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อใน “พระเครื่อง” ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าขึ้นอยู่กับความเชื่อและความชอบของแต่ละบุคคล

แต่จีที 200 ไม่ใช่ความเชื่อ หากเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ผู้ซื้อไม่ว่าสั่งซื้อมาเพราะถูกหลอก สะเพร่า หรือไม่ทันคิด ก็ไม่ควรหนีพ้นจากความรับผิดชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน