ข้ออ้างความมั่นคง

 

 

ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขแล้ว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี ผลักดันและหวังให้มีผลบังคับใช้ก่อนเลือกตั้งนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้จะยังไม่ผ่านขั้นตอนพิจารณาไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เพราะกฎหมายฉบับนี้เหมือนฉบับอื่นๆ ในช่วงเวลาของการรัฐประหาร คือร่างขึ้นด้วยความหวังดีแต่ไม่รอบด้าน ไม่รอบคอบ และไม่ตอบสนองข้อเท็จจริง เพราะไม่มีตัวแทนประชาชนร่วมพิจารณาด้วย

แม้รัฐบาลแถลงให้ประชาชนอย่าเพิ่งหวั่นวิตก เพราะร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสนช.อีกถึง 3 วาระ อีกทั้งผู้นำรัฐบาลยังมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปทบทวนรายละเอียด และศึกษากฎหมายของนานาประเทศ

ข้อถกเถียงหลักเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ ก็คือกำหนดให้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. มีอำนาจเรียกตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลทั้งการโพสต์ แช็ตผ่านอินเตอร์เน็ต-มือถือได้ บุกค้นและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

เพียงอ้างเหตุอันควรสงสัยกระทบความมั่นคง

การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเหตุผลข้อนี้ เป็นส่วนที่รัฐบาลระบุว่าต้องศึกษาก่อนว่าจะมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร เพื่อให้มีกฎหมายที่ทันสมัย เป็นธรรมต่อทุกคน

และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

แนวทางที่ระบุว่ากฎหมายต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศนั้น เป็น คำตอบสำคัญว่าเหตุใดทุกประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีตัวแทนประชาชน มีรัฐสภา และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

หากจะออกกฎหมายเพียงเพื่อข้ออ้างด้านความมั่นคง โดยไม่มีประชาชนเข้าร่วมและตรวจสอบ ประเทศก็จะมีเพียงกฎหมายที่ไม่ได้รับฉันทามติ ส่งผลสร้างความขัดแย้ง และก่อความเข้าใจผิดๆ ต่อไปอีกมาก

ในที่นี้รวมถึงความคิดว่าหากบ้านเมืองมีจลาจลแล้ว กองทัพต้องเข้าแทรกแซงและยึดอำนาจ

เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงในการรักษาความมั่นคง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน