คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุกใส่คณะสงฆ์ ประชุมส่งท้ายปี แก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 แบบม้วนเดียวจบ ผ่าน 3 วาระรวด

เนื้อหาสาระคือแก้ไขหมวดสมเด็จพระสังฆราช โดยย้อนกลับไปใช้ความในมาตรา 7 แบบเดิม คือ กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

เป็นที่น่าสังเกตว่าฉบับที่แก้ไขนี้ มีข้อความใหม่ปรากฏขึ้นมา คือให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งที่จะต้องติดตามต่อไป

สําหรับมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 นั้น บัญญัติไว้ว่า

พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

เป็นการให้อำนาจคณะสงฆ์มีส่วนร่วม

ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคม ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายมาตรานี้ รวมทั้งยึดจารีต ประเพณี และพระธรรมวินัยในการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชอย่างสมบูรณ์

แต่ขั้นตอนกลับติดขัดอยู่ที่รัฐบาล มีการถ่วงรั้งไว้ มิได้ดำเนินการ โดยอ้างว่าคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ถึงขั้นยื่นเรื่องให้ตรวจสอบตีความ สุดท้ายก็มีผลสรุปว่าที่มหาเถรสมาคมดำเนินการนั้นชอบแล้ว แต่รัฐบาลก็เก็บเรื่องไว้จนใกล้จะครบปี

สุดท้ายมีการแก้พ.ร.บ.สงฆ์ โดยสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มอำนาจปัจจุบัน อีกไม่นานจะรู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร และจะเกิดอะไรตามมาหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน