จากนายกฯลุงตู่ ถึงนายกฯ “ตู่ดิจิทัล”

 

 

คืบหน้าตามสเต็ป จากการประกาศ ชัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เมื่อช่วงปีใหม่ 2561 ถึงสถานะทางการเมืองของตนเองว่า

เป็น”นักการเมือง”ที่เคยเป็นทหาร

คือการส่งสัญญาณชัดเจนครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีนับแต่การยึดอำนาจ ในการสืบทอดอำนาจด้วยการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มรูปแบบ

จากนั้นตลอดช่วงเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาและน่าจะยาวไปถึงสิ้นปี

ที่ทีมงานรัฐบาลคสช. จัดให้มีการ ประชุมครม.สัญจร รวมถึงจัดวางโปรแกรมให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างถี่ยิบในทุกภาค เหนือ ใต้ กลาง อีสาน ออก ตก

ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงสำคัญของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ทำให้หลายครั้งถูกมองว่าเป็นการเจาะฐานเสียง เก็บคะแนนตุนล่วงหน้า

นอกจากพบปะประชาชน พล.อ. ประยุทธ์ ยังใช้โอกาสนี้พบปะพูดคุยกับอดีตนักการเมืองและอดีตส.ส.หลายกลุ่ม

ต่อมาต้นเดือนมีนาคม การถือกำเนิดของชื่อพรรค “พลังประชารัฐ” หรือพปชร. ทำให้ทุกอย่างฉายชัดมากขึ้น

หลังจากเลขาธิการกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ออกหนังสือรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับพรรคพลังประชารัฐในเดือนเมษายน

ถัดจากนั้น 5 เดือน วันที่ 29 กันยายน พรรคพลังประชารัฐได้จัดประชุมใหญ่ ครั้งแรก เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดแรก

ปรากฏว่านายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นโฆษกพรรค พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 20 คน

การแจ้งเกิดเป็นทางการของพรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นจังหวะใกล้เคียงกับที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยกระดับความชัดเจนอนาคตทางการเมืองของตนเองขึ้นอีกขั้น

“สำหรับสิ่งที่หลายๆ คนอยากจะให้ตอบในเรื่องงานการเมือง ก็ตอบได้ว่า ในขณะนี้ผมสนใจงานการเมือง แต่การจะตัดสินใจอย่างไร จะสนับสนุนใคร เป็นเรื่องที่ต้องรออีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถึงจะเปิดเผยท่าทีว่าสนใจงานการเมือง แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังยืนยันจะไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.

รวมถึงการยังไม่”ปลดล็อก”ให้พรรคการเมืองอื่นได้ทำกิจกรรมหาเสียง เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ตามที่คาดหมายกันว่าจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

โดยอ้างว่า ถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ยังต้องหน่วงเวลาอีก 90 วัน จึงจะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะอยู่ในราวกลางเดือนธันวาคม 2561

จริงอยู่พล.อ.ประยุทธ์ พูดแค่ว่าตนเองมีความสนใจงานการเมือง โดยไม่บอกว่าจะเข้าร่วมงานกับพรรค การเมืองใด

แต่นักการเมืองและสังคมในวงกว้างก็รับรู้มาตั้งแต่แรกว่า พรรคพลังประชารัฐคือพรรคที่มีแนวทางสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง

การที่พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธเส้นทางการเป็นนายกฯ “คนนอก” จึงมีความเป็นได้มากว่า จะสืบทอดอำนาจด้วยการเป็นนายกฯ “กึ่งคนใน กึ่งคนนอก”

นั่นคือการเป็น “แขกพิเศษ” รับเชิญให้ไปอยู่ในบัญชีชื่อ 3 บุคคลของพรรคพลังประชารัฐที่จะเสนอเป็น นายกฯ ต่อสาธารณะในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่การก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของรัฐบาลคสช. ส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้พยายาม “ปรับตัว”ให้คุ้นชินกับสนามการเมืองมาตลอด ด้วยการเข้าถึงประชาชนให้ได้ทุกกลุ่ม

ขณะเดียวกันก็พยายามไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพรรคพลังประชารัฐโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียงตุนคะแนนล่วงหน้า เอาเปรียบพรรคคู่แข่ง ซึ่งยังถูกพันธนาการด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.

ล่าสุด การที่พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เพื่อสื่อสารตรงกับประชาชน และรับฟังข้อเสนอแนะนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมาในระยะเวลา 4 ปี

นอกจากนี้ยังเปิดใช้สื่อสังคมออนไลน์อื่น ทั้งทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ชื่อ prayutofficial รวมทั้งเปิดเว็บไซต์ www.prayut chan-o-cha.com เพื่อเผยแพร่ข่าวสารการทำหน้าที่ในฐานะนายกฯ อีกด้วย

การเปิดใช้โซเชี่ยลมีเดียของพล.อ.ประยุทธ์ แบบ “จัดเต็ม”ทุกช่องทางการสื่อสารในยุคดิจิทัล มุ่งเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ สะท้อนถึงความพยายามหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่

จากนายกฯ”ลุงตู่” เป็นนายกฯ”ตู่ ดิจิทัล”

สําหรับ”ตู่ ดิจิทัล” นี้ ด้านหนึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

เห็นได้จากเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ที่เปิดใช้เพียงไม่กี่วัน ก็มีคนเข้าไปกดไลก์ และติดตาม มากกว่า 200,000 คน เช่นเดียวกับในไอจี และทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามหลายหมื่น ไปจนถึงเกือบแสนคนเช่นกัน

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามตามมาจากนักการเมืองอีกฝ่ายว่า ปฏิบัติการ “ตู่ ดิจิทัล” เข้าข่ายหาเสียงทางอ้อมหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ พยายามอธิบายชี้แจงว่า สิ่งที่ทำเป็นการใช้โซเชี่ยลมีเดีย เพิ่มช่องทางการสื่อสารนโยบายและแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนโดยตรง

ไม่ใช่การหาเสียงทางการเมือง

ก็ดูเหมือนจะไม่ตรงกับความรู้สึกของนักการเมืองเท่าใดนัก

เพราะเนื้อหาตอนหนึ่งในประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองใช้โซเชี่ยลมีเดียในการหาเสียง

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไหนๆ พล.อ.ประยุทธ์จะสื่อสารผลงานรัฐบาลผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียแล้ว ก็อยากให้แก้ไขคำสั่งที่ 13/2561 ด้วย

“สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ทำ ไม่ต่างอะไรกับการหาเสียง ดังนั้นขอให้แก้ไขคำสั่งดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียได้ด้วย ไม่ใช่ทำได้อยู่คนเดียว แบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่” นายสามารถกล่าว

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อใดที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศลงการเมือง แล้วใช้โซเชี่ยลมีเดียเพื่อหาเสียง เมื่อนั้นก็ควรพิจารณาเปิดโอกาสให้คนอื่นทำได้เช่นเดียวกัน

ด้านนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ใช้โชเชี่ยลมีเดียในการสื่อสาร เป็นสิ่งที่พูดยากว่าหาเสียงหรือไม่ แต่ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้คนอื่นทำได้ด้วย

ที่สำคัญพล.อ.ประยุทธ์ต้องอ่านและรับฟังว่า สิ่งที่ประชาชนแสดงความเห็นผ่านโซเชี่ยลมีเดีย เป็นเรื่องจริงหรือไม่

ทราบว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นทีมแอดมิน จึงหวังว่าจะซื่อสัตย์ เสนอทุกความเห็นให้พล.อ.ประยุทธ์อ่าน ไม่ใช่เสนอเฉพาะความเห็นชื่นชม มิเช่นนั้นความจริงจะถูกเบี่ยงเบน

จึงเป็นเรื่องต้องจับตาดูกันต่อไปว่าพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลคสช. จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว จะตอบสนองทำตาม หรือเพิกเฉย เพื่อกอบโกยความได้เปรียบไว้กับฝ่ายตัวเองต่อไปเรื่อยๆ

สอดรับข่าวกระฉอกจากวงในเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจมีการแตก”พรรคสาขา”กระจายกำลังออกไป แล้วขยับโรดแม็ปเลือกตั้งจากเดือนกุมภาพันธ์ ไปเป็นเดือนมีนาคม

ทั้งหมดเพื่อความพร้อมสูงสุดในทุกด้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน