อิทธิพร บุญประคอง กกต.กับการเลือกตั้ง’62 ใต้กติกาใหม่

 

อิทธิพร บุญประคอง – การเลือกตั้งปี 2562 ที่จะมีขึ้นตามโรดแม็ป เป็นที่จับตาจากทั้งในและนอกประเทศ

ไม่ใช่เพราะเป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารเท่านั้น หากแต่รูปแบบและกติกาการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่การจัดการดูแลการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. วันนี้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างไรบ้าง

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้

 

* การทำงานยึดหลักหรือนโยบายอย่างไรบ้าง

ช่วงรับราชการก็จะนึกถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นเกณฑ์มาโดยตลอด เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นเรื่องสำคัญ ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ท้อถอยเป็นหลักสำคัญที่ยึดถือมาตั้งแต่รับราชการอายุ 24-60 ปี

เมื่อตั้งใจมาทำงานในฐานะกกต.ก็ตระหนักว่าความรับผิดชอบต้องมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนก็ต้องดูในแง่กฎหมายว่าอะไรที่กำหนดให้บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเป็นกกต.ต้องกระทำบ้าง

มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ระบุถึงองค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศตามหลักนิติธรรมเพื่อความผาสุกของประชาชนโดยรวม เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เตือนใจเราอยู่ตลอด

บางเรื่องมีความหวั่นเกรงหรือกลัว แต่เมื่อกฎหมายบอกให้ต้องมีความกล้าหาญเราก็ต้องคำนึงว่าต้องกล้าทำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และเมื่อทำอะไรแล้วต้องกล้ารับผิดชอบด้วย

* ต้องเข้ามาจัดเลือกตั้งในขณะที่กฎ กติกาปรับเปลี่ยน เตรียมรับมืออย่างไร

ยอมรับว่ากฎกติกามีเยอะมาก แต่โชคดีที่กกต.มีทีมงานที่มีองค์ความรู้ เพราะคณะกรรมการไม่ได้ทำงานเป็นเอกเทศ แต่มีสำนักงานที่เป็นเสมือนหุ้นส่วนที่จะช่วยคิดช่วยทำ และสำนักงานกกต.มีการตั้งมายาวนานถึง 21 ปีแล้ว ดังนั้น องค์ความรู้จะมีเพียงพอที่จะแบ่งปันให้เรา

สำหรับประเด็นใหม่ๆ นั้นเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2560 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต. พรรคการเมืองและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สำนักงาน กกต.จึงเตรียมการศึกษาสร้างความเข้าใจกับตัวเอง บวกกับกกต.ชุดที่แล้วเตรียมการไว้ให้แล้วบ้างจึงได้รับประโยชน์ในส่วนนั้นด้วย

ที่สำคัญเราต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญมีใช้แล้วคนที่เกี่ยวข้องทั้งกกต.และสำนักงานกกต.ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าหน้าที่ของเรามีอะไรบ้าง ส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.ที่ได้บัญญัติเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก ก็ต้องทำความเข้าใจอีกว่าต้องออกกฎระเบียบอะไรบ้าง

ส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็ต้องทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีมาใหม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เมื่อเราเข้าใจดีแล้ว พรรคการเมือง และผู้สมัครเข้าใจดีแล้วหรือไม่ องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่กกต.ต้องรู้ให้มากที่สุด เพื่อจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งประชาชน ผู้สมัคร และพรรคการเมือง

เรื่องใหม่ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ เช่น 1.ตอนนี้กกต.หนึ่งคนมีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทุกหน่วยของบางเขตเลือกตั้ง หากพบการกระทำการเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.กฎหมายให้กกต.ตั้งพนักงานของกกต.เองเป็นเจ้าพนักงานทำหน้าที่สืบสวนและไต่สวนได้ เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ออกหมายเรียกได้ กกต.จึงต้องทำให้มั่นใจว่าพนักงานกกต.มีองค์ความรู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ ซึ่งจะมีการอบรมเรื่องดังกล่าวต่อไป จึงถือเป็นการเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือให้กับพนักงานเรา

3.มาตรการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันป้องปราบหรือปราบปรามการทุจริต ถ้ามีผู้ให้เบาะเสาะ หากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยกกต.ก็ต้องคุ้มครองพยาน กกต.สามารถกักบุคคลที่อาจจะมีส่วนกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายอาญาเป็นพยาน และกกต.มีอำนาจหน้าที่ในการแสวงหาข่าวในเชิงลึก สามารถให้เงินรางวัลกับผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง ดังนั้นพยานจึงถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา

สิ่งเหล่านี้ต้องเข้าใจในหน้าที่ แล้วต้องออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้พนักงานกกต.ทุกคนทราบในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง

* คสช.ลงสนามเลือกตั้งด้วย สั่งเจ้าหน้าที่ให้วางตัวอย่างไรไม่ให้ถูกครหา

เป็นเรื่องปกติที่กกต.จะต้องดูแล ดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมายและสุจริต เราต้องเป็นกลาง ข่าวก็คือข่าว แต่สิ่งที่ต้องทำคือทำให้การเลือกตั้งสุจริต เข้าข้างใครไม่ได้ เพราะถ้าทำไม่สุจริตเราเองจะมีภาระที่รับผิดชอบและยังจะผิดกฎหมายด้วย

ฉะนั้น ผู้สมัครทุกคน เราให้ความเป็นกลางและความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว คงไม่ต้องไปดูว่าใครเป็นใคร ถ้าทำเช่นนั้นจะเป็นการขาดความเป็นกลาง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต

* ประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างไร

ขอประเมินในฐานะคนที่จัดการเลือกตั้งว่าขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครแต่ละคนมีคุณสมบัติครบถ้วน ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎ กติกาการเลือกตั้งอย่างดี

ต้องตระหนักถึงความเป็นผู้สมัครเลือกตั้งที่ดี เพราะผู้สมัครที่ปฏิบัติไม่ชอบก็ต้องมีความรับผิดชอบในข้อกฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย การจะเป็นผู้สมัครใหม่หรือเก่าทางกกต.ก็ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

ผมมองว่ากกต. นอกจากกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ยังต้องให้บริการที่ดีกับผู้สมัครและทุกฝ่าย ถ้าอะไรที่เป็นการสนับสนุนการอธิบายให้ผู้สมัครเข้าใจก็จะทำให้เท่าเทียมกัน

*การเตรียมความพร้อมของกกต.ในการจัดเลือกตั้ง

วันนี้คสช.ให้อำนาจหน้าที่กกต.แบ่งเขตการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว ตั้งใจว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังพ.ร.บ.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะไปตรงกับวันที่ 10 พ.ย. เพื่อให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครพรรคตัวเองอีก 30 วัน คือจะเป็นวันที่ 10 ธ.ค.

การแบ่งเขตกำลังทำอยู่ โดยทำเป็น 3 แบบ เปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นได้ พอหมดเขตการรับฟังความเห็นวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางกกต.จังหวัดจะประเมินความเห็นมายังกกต.กลาง คาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ย.

ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ผ่านการคัดเลือกจากกกต.ชุดที่แล้วไปแล้ว 616 คน เราได้ดูขั้นตอนการแต่งตั้ง แต่พอคัดเลือกผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีทั้งหมดแล้วเปิดให้ประชาชนแสดงข้อคิดเห็น ซึ่งตอนนี้มีการร้องเรียนมาแล้ว ทางกกต.เห็นด้วยว่าข้อร้องเรียนนั้นมีเหตุมีผล ก็จะไม่เห็นชอบรายชื่อบางคน แต่คาดว่าในไม่ช้าน่าจะประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ และฝึกอบรมได้ทันเวลา

สำหรับการเตรียมการเกี่ยวกับการสรรหาส.ว. 250 คน โดยมาจาก 3 ส่วน คือ 1.เป็นส.ว.โดยตำแหน่งคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน

2.คณะกรรมการสรรหาส.ว. คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคสช.คัดเลือก จำนวน 194 คน

3.กกต.จัดให้มีการเลือก ส.ว. 200 คน ส่งให้คสช. 15 วันก่อนการเลือกตั้งส.ส.

วันที่ 20-30 พ.ย.จะเปิดรับสมัครส.ว. จากนั้นเริ่มคัดเลือกส.ว.ระดับอำเภอวันที่ 16 ธ.ค. ระดับจังหวัดวันที่ 22 ธ.ค. และระดับประเทศวันที่ 27 ธ.ค. เมื่อเลือกเสร็จแล้วกกต.จะส่งรายชื่อ 200 คนให้กับคสช.ได้ภายในวันที่ 4 ม.ค.2562 เพื่อคัดเลือกจำนวน 50 คน

ดังนั้น ไม่ว่าการเลือกตั้งส.ส.จะจัดในวันไหนเงื่อนไขในการมีส.ว.ให้คสช.เลือก ทำทันแน่

*การขอจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

สำนักงานกกต.ได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณารับจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน พรรคที่มายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรคใหม่นั้นมีเป็นร้อย หน้าที่ของกกต.คือกลุ่มการเมืองหรือบุคคลใดที่ยื่นขอตั้งพรรคการเมือง กกต.ต้องทำให้มั่นใจว่าเมื่อขอจดแจ้งมาแล้วต้องทำให้ทันเวลา เมื่อมีจำนวนหลายกลุ่มก็ต้องเอาความเท่าเทียมกันเป็นเกณฑ์มากกว่าเอาพรรคใดพรรคหนึ่ง

ในการปฏิรูปการเมืองนั้นเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าพรรคใหม่หรือพรรคเล็กพรรคใหญ่ก็ต้องสนับสนุนให้สามารถดำเนินการให้ตรงวัตถุประสงค์ของเขา

ดังนั้นเมื่อขอจัดตั้งพรรคมาเราต้องทำให้เขามั่นใจว่าจะจดให้เป็นพรรคได้ และให้เข้าสู่สนามการเลือกตั้งได้ แต่คงไม่ใช่เป็นการปรับเพื่อเอื้อกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ถ้าจะปรับก็ให้มีมาตรฐานเดียวกัน

หลักเกณฑ์ที่ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ถ้านับจากวันที่มายื่นจดแจ้งกับวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 150 วัน โดยโรดแม็ปเลือกตั้งคือวันที่ 24 ก.พ.2562 ฉะนั้นกกต.ต้องเร่งรัดการพิจารณาการยื่นขอจดแจ้งตั้งพรรคให้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่จะได้มีเวลาทำตามขั้นตอน

การที่จะใช้เวลาตามขั้นตอนจดทะเบียนพรรคตามที่กกต.คาดการณ์ไว้ว่า 60 วันนั้น จึงจำเป็นต้องปรับเวลาให้ทุกกลุ่มที่ยื่นขอตั้งพรรคสามารถดำเนินการเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งให้ได้ เพราะต้องการให้มีพรรคใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้มากที่สุด

*มีเรื่องไหนที่ต้องการเน้นย้ำเป็นการพิเศษในการเลือกตั้งหรือไม่

เมื่อมีกฎ กติกาใหม่ๆ สำนักงานกกต. และผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติกับการเลือกตั้งจะต้องเข้าใจ โดยกกต.ต้องรณรงค์ให้ประชาชนผู้ที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีความรู้ความเข้าใจกับกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ถี่ถ้วน จะได้มีการไปใช้สิทธิ์ให้ถูกต้อง

เช่น บัตรเลือกตั้งมีใบเดียว แต่การลงคะแนนบัตรใบเดียว จะส่งผลไปถึงการที่พรรคจะมีคะแนนรวมเพื่อได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้ต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เข้าใจมากขึ้น
กกต.มีอาสาสมัครและกลุ่มประชาชนที่มาช่วยงานมาก ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายได้มีการทำความเข้าใจระดับท้องถิ่นไปมากแล้ว

วันนี้ยอมรับว่าประเด็นที่มีความท้าทายคือต้องสร้างความชัดเจนให้กับผู้ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อคนที่เข้าใจในกฎกติกาแล้ว เวลาออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็จะไม่มีปัญหาและบัตรเสียจะมีน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทราบกันดีว่าพรรคการเมืองยังไม่สามารถหาเสียงได้เพราะติดคำสั่งคสช. ที่มุ่งเรื่องการรักษาความสงบไม่อยากให้มีการหาเสียงในช่วงนี้ แต่เมื่อไรที่เปิดให้หาเสียงได้แล้วกกต.จะมีระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงออกมา รวมถึงการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการรวบรวมจากแนวปฏิบัติที่ผ่านมาว่าอะไรที่ไม่สามารถทำได้ให้เห็นชัดเจน

โดยหลักแล้วการหาเสียงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ห้าม แค่อย่าทำให้เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีกัน เพราะจะกระทบต่อการเลือกตั้งและผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน