เรามักเลือกตัดสิน ‘จากสิ่งที่เห็น’

“หม่าม้าบอกแล้วไงให้ตั้งใจเรียน แกเป็นลูกชายคนโตของตระกูล จะมาทำตัวไม่เอาถ่านแบบนี้ไม่ได้นะ
ดูน้องสาวแกสิ เรียนจนสอบเข้าจุฬาฯ ได้ ส่วนแกวันๆ ก็เอาแต่เล่นเกม ชวนเพื่อนมาดูดกัญชาที่บ้าน สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ แบบนี้มันเรียกว่า เลี้ยงเปลืองข้าวสุก”

“เออ รู้แล้วน่า”

“เฮียก็ทำตัวดีๆ กับหม่าม้าหน่อยได้ไหม วันๆ เอาแต่ทำให้หม่าม้าเสียใจ”

“ไม่ต้องทำเป็นสอนเฮียเลย เฮียก็เห็นแกเถียงแม่อยู่ทุกวัน”

“หนูก็ดีกว่าเฮียแล้วกัน อย่างน้อยหนูก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หม่าม้าบอกให้หนูเลี้ยงเฮียตอนโต เพราะเฮียคงจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ทำงานร้านอาหารก็ถูกไล่ออก ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่เอา ขอเหอะเฮีย อย่าสร้างภาระให้หนูเลย”

“น้องสาวแกพูดถูก แกไม่มีอะไรเลยแบบนี้ ผู้หญิงที่ไหนจะเอา ดูพ่อแฟนแกสิ เขาต่อต้านแกขนาดไหน เพราะคิดว่าแกคงเลี้ยงลูกสาวเขาไม่ได้ เลยต้องพยายามหาลูกเขยใหม่ให้ ถ้าแกยังทำตัวแบบต่อไป ไม่มีใครเอาแกแน่ ๆ”

“…”

นี่คือครอบครัวหนึ่งที่ผมรู้จักในเมืองไทย เป็นครอบครัวชาวจีน ที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำธุรกิจ เมื่อวันหนึ่งคุณพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวทิ้งไป เหลือเพียงคุณแม่ ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงลูก 2 คน ลูกชายคนโตจึงเป็นความหวังของครอบครัว เพราะเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูล

ดังนั้นก่อนหน้านี้ คุณแม่จึงทุ่มเทให้ลูกชาย ทั้งส่งเสียให้เรียนโรงเรียนมีชื่อเสียง จ่ายค่าเรียนพิเศษมากมาย ซื้อเสื้อผ้าราคาแพง กล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือดีๆ ให้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะลูกชายคนนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ อีกทั้งยังสอบตกเกือบทุกวิชาในโรงเรียน เพราะมีอาการผิดปกติทางสมอง บวกกับอาการของโรคซึมเศร้า

เขาพยายามพบแพทย์มาหลายปี ทำให้เรียนหนังสือเหมือนคนปกติไม่ได้ และใช้เวลาส่วนใหญ่กับการรักษา

ความทุกข์ทรมานจากโรค ทำให้เขาตัดสินใจใช้ยาเสพติด ซึ่งยิ่งส่งผลให้สมองมีอาการผิดปกติ จนไม่สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป ด้วยความล้มเหลวทั้งด้านความรัก การเรียน การทำงาน และ ‘คำดูหมิ่นจากคนรอบข้าง’ ไม่นานความคิดที่เห็นว่า ตัวเองต่ำต้อย ไร้คุณค่า ก็เข้าครอบงำ และเลือกจบชีวิตตัวเองลงด้วยการกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยวัยเพียง 23 ปี

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก การตัดสินว่า ‘เขา’ ไม่ผ่านมาตรฐานที่สังคมกำหนด และเห็นว่าเขาเป็นเพียงไส้เดือนที่สกปรกเท่านั้น

เมื่อคุณเห็นไส้เดือน คุณรู้สึกอย่างไรกับมันครับ สำหรับบางคนอาจมองว่าไส้เดือนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน แต่สำหรับบางคนมองว่า มูลไส้เดือนมีจุลินทรีย์ ที่สามารถใช้สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศในดิน และยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย

นักศึกษาที่ผมรู้จักคนนี้ เขามีชีวิตเหมือนไส้เดือนครับ แม้เขาจะมีลักษณะที่ไม่ปกติเหมือนคนอื่น แต่เขายังสามารถไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครเพื่อผู้อื่นที่ประเทศกานา ในทวีปแอฟริกา เป็นระยะเวลา 1 ปี

ผมมองเห็นว่าบ่อยครั้งตัวเราเองมักตัดสินคนอื่นว่า เป็นคนที่บกพร่อง มีแต่ข้อเสีย ทำตัวไม่ดี ชอบสร้างปัญหา

คนในสังคมมักมีจิตใจที่ดูถูกคนต่ำต้อยกว่า เช่น รังเกียจคนที่ทำงานกรรมกร ไร้การศึกษา ดูไม่น่าไว้วางใจ แต่หากไม่มีพวกเขา การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็อาจจะล่าช้าออกไปอีก ลองจินตนาการดูสิครับว่า ถ้าคนเก็บขยะหยุดทำงานพร้อมกันทั้งประเทศแค่ 1 วัน บ้าน ถนน หรือที่ทำงานของคุณจะเป็นอย่างไร หรือหากไม่มีคนทำงานโรงงานรองเท้าหรือเสื้อผ้า คราวนี้คนรวย คนเก่งก็ต้องลำบาก จะเอารองเท้า เสื้อผ้าที่ไหนใส่

หากเรามีจิตใจที่ดูหมิ่นคนต่ำต้อยกว่าเช่นนี้ เราก็คงต้องยอมรับว่า เราเองก็มีส่วนผิด ที่สร้างบาดแผลให้กับพวกเขา

ชีวิตของนักศึกษาคนนี้เอง ได้ให้บทเรียนอันมีค่านี้แก่เราทุกคน เขาต้องพบเจอกับความเจ็บปวดมากมายในชีวิตอันแสนสั้น ผ่านเรื่องนี้ หากเรามีจิตใจที่ขอบคุณ และให้ความเคารพซึ่งกันและกันต่อคนในสังคมทุกระดับ ความสัมพันธ์ของผู้คนก็คงดีขึ้น

เพราะจิตใจที่เราคิดว่า เราดีกว่าคนอื่นและมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะทำให้เราฟังเสียงคนที่เราคิดว่าด้อยกว่าเราไม่ได้ และเป็นการปิดโอกาสที่จะเข้าใจจิตใจของผู้อื่น ไม่มีใครเป็นคนต่ำต้อยกว่าใครเพียงเพราะการมีสภาพชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่นหรอกครับ

“ทุกคนล้วนเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคม เช่นเดียวกับการมีอยู่ของไส้เดือนที่ทำให้ต้นไม้ออกพืชผลงดงาม”


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน