รายงานพิเศษ : ประเทศกูมี : ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน

 

 

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จัดงานเสวนา หัวข้อ “ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน” โดยมี นักวิชาการหลากหลายสาขาร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดต่อปรากฏการณ์ความนิยมของเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD

ทั้งเนื้อหาของบทเพลง ฉากใน MV ที่บอกเล่าถึงความรุนแรงของสังคมไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตลอดจนการขู่ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฟ้องปิดปาก ดังนี้

ถนอม ชาภักดี

คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

ศิลปะของบ้านเรา เมื่อพูดถึงเพลงขบถก็จะนึกถึงภาษาไทย แต่กลับลืมไปว่า หมอลำ เองก็กบฏผีบุญตั้งแต่รัชกาลที่ 3 รากฐานของแร็พคือ กลุ่มกบฏที่ไม่มีพื้นที่ มาพร้อมกับการไม่มีใครฟัง

เมื่อย้อนกลับไปในสังคมไทย ทั้งก่อนสยาม จะพบว่า การต่อต้านอำนาจส่วนกลางนั้นมีมาตลอด แต่ไม่เคยถูกนับว่าเป็นเสียงของความขบถ กลับนับเพียงแต่การต่อสู้ของคนในเมืองมากเกินไป ไม่ค่อยฟังเสียงขบถของคนในต่างจังหวัดชาวบ้าน ถ้าเปิดรับจะพบว่ามากกว่านี้

ประเทศกูมี สะกิดต่อมของชนชั้นกลางในเมืองรำพึงรำพันของการขบถมีอยู่ในประชาชนทุกคน โดยเฉพาะหมอลำเอง ที่ในช่วงสงครามเย็น หมอลำถูกใช้ในทางภาครัฐ และคอมมิวนิสต์ แต่งกลอนสู้กัน หมัดต่อหมัด การต่อสู้แบบนี้คือ soft power หรืออำนาจละมุน

แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างของเผด็จการทหาร มีความแยบยลมาก สามารถปลุกเร้ากล่อมเกลาให้เครื่องมือทางศิลปะไปอยู่ฝ่ายเค้ามีมากกว่า

สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน ที่ประเทศกูมีใช้ เป็นเรื่องน่าสนใจ ตรงที่คนกำลังกระหาย หิวโหย ไม่รู้จะออกไปทางไหน นั่งรอหาความเป็นตัวแทนมาพูดแทนเรา แทนที่เราจะออกไปพูดเอง เพราะแต่ละคนมีสถานะทางการงาน

ส่วนเผด็จการมักใช้คำกำกวม อ้างความมั่นคง ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไร มาตรา 44 และกฎหมายความมั่นคง พร้อมจะใช้ตลอดเวลา เราไม่พร้อมฟังเพลงแบบนี้ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพได้แน่นอน เพียงแต่เราจะสร้างเพลงแบบนี้ให้แตกปลายออกไปได้มากแค่ไหน โดยไม่ต้องรอหอศิลป์ ที่เป็นซากปรักหักพังที่รัฐเข้ามาแทรกแซง

ประเทศนี้มีพื้นที่การต่อต้านทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงแค่กรุงเทพฯ ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความน่าละอายให้แก่เผด็จการได้ ทำให้มันตลก เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ ไม่จำเป็นต้องสถาปนาในที่สาธารณะให้คนกราบไหว้ มันสัมผัสได้ด้วยใจ เหมือนประเทศกูมี

นี่คือการต่อสู้ครั้งใหม่ โดยใช้สุนทรียศาสตร์ และรสนิยมของประชาชน ซึ่งเราขาดตอนจากเพื่อชีวิต ที่ตอนนี้แปรรูปจนกลายเป็นอะไรไม่รู้ นับจากปี 2516 เราไม่เคยสร้างศิลปะเพื่อประชาชนอะไรได้ ถูกกล่อมด้วยคำว่า เพื่อชีวิต เท่านั้น

แต่ปี 2561 แร็พบอกเล่าถึงการต่อต้าน นี่คือสิ่งที่ต้องยกธงขึ้นมาในฐานะรสนิยมของประชาชน ในการปลุกปลอบ เพื่อสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ที่เราถูกทับถามกันตลอดมา

สาวตรี สุขศรี

คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ผู้มีอำนาจมักใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการกดปราบ เพราะศิลปะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า อย่างเพลงประเทศกูมี ได้ทำให้หลายคนสนใจการเมือง แสดงว่า ศิลปะเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า

ประเทศกูมีจะมาปิดฉากเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อน ซึ่งมีฟังก์ชันคล้ายกัน แม้ศิลปินเหล่านั้นจะไปแต่งเพลงอวยเผด็จการกันหมดแล้ว แต่พวกเขาก็เคยแต่งเพลงเสียดสีสังคม ทำให้ฉุกคิดว่า รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ศิลปะถูกใช้ในหลายสังคมที่ต่อต้านอำนาจรัฐไม่เป็นธรรม ด้านหนึ่งภาครัฐก็ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ฟากประชาชนก็จะใช้ต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันจะมีการดื้อแพ่ง อารยะขัดขืน ไม่ใช้กำลัง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในระดับเดียวกันตามมา ซึ่งการต่อต้านไม่จำเป็นต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง

จุดเริ่มต้นของประเทศกูมี เริ่มมาจากพี่ศรี ก่อนออกมาถอย ให้ไลก์ แชร์ได้ นี่ยังสรุปว่าเป็นชัยชนะของประชาชนยังไม่ได้ จะบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนแล้วหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่

มันเป็นปรากฏการณ์พิเศษอย่างหนึ่ง ที่มาจากยอดวิว 20 ล้านครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเพิ่งฉลาด ยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟังเราจึงยังดีใจไม่ได้ ต้องศึกษาไว้ใช้กับเพลงต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นสรุปได้ตามเนื้อเพลงประเทศกูมีว่า ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ ประเทศที่มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่ ที่เขาถอยไม่ใช่เพราะตาสว่าง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งรัฐจะงัดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) การนำข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

องค์ประกอบความผิดของกฎหมายมาตรานี้ ต้องมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และต้องน่าจะเกิดความเสียหาย ซึ่งเท็จคือต้องโกหก แต่ในเนื้อร้อง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย คนต้านตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เกิดขึ้นจริง เช่น บัตร 30 บาทยังใช้อยู่ ก็ต้องเรียนว่า มีความพยายามจะล้ม 30 บาทจริง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย จึงไม่มีการใส่ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ แต่อย่างใด

ในแง่ความรุนแรง ที่ท่อนเปรียบเทียบกับหอไอเฟล มันคือการเปรียบเปรยให้ได้อรรถรส เป็นข้อคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะบอกได้ว่า เท็จหรือจริง จึงไม่มีใครตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ จนเข้าสู่องค์ประกอบความผิดได้

อีกทั้ง กฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนพูดความจริง ที่ไม่ใช่เรื่องดีในประเทศไทย ประเทศกูมี ไม่ = ประเทศกูไม่ดี

ชาวต่างชาติเขาไม่อยากเข้ามา เพราะประเทศนี้มีรัฐประหาร แค่ร้องเพลงแร็พก็อาจมีความผิด ยกตัวอย่างความเท็จ เนื้อเพลง “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน” ก็จะเห็นพาดหัวข่าวว่า ปฏิรูป 4 ปี เหลวขอต่อเวลา

“เราจะทำอย่างซื่อตรงขอให้เธอจงไว้ใจ” ก็มีพาดหัวข่าวว่า ป.ป.ช.ชี้ นาฬิกายืมเพื่อน หรือ ปิดห้องถกงบกลาโหม แต่เราก็แบนเพลงนี้ไม่ได้แล้ว ขนาดเป็นเพลงรัฐบาลเผด็จการแต่ง เรายังใจกว้างรับฟังได้เลย

เพียงแค่ความเท็จยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ซึ่งต้องมีความเสียหายด้วย แต่ประเทศไม่เท่ากับคสช.ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เนื้อหาแร็พที่วิจารณ์ เจ้าหน้าที่รัฐ คสช. และศาล ไม่ได้วิจารณ์ประเทศ ความมั่นคงในกฎหมายไม่ได้คุ้มครองรัฐบาลคสช. นี่คือสิ่งที่ตรรกะกลับด้านทั้งหมด

ตัวอย่างที่กระทบความมั่นคงของประเทศ เช่น การผลักดันซิงเกิล เกตเวย์ กฎหมายมั่นคงไซเบอร์ แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่พูด

มาถึงมาตรา 14 (5) ว่าด้วยการเผยแพร่ส่งต่อหรือการแชร์ ข้อมูลที่มีความผิดตาม มาตรา 14(2) นั้น ในเมื่อเนื้อหาดังกล่าวไม่ผิดตามมาตรา 14(2) แล้ว การแชร์ก็ไม่ผิดตามมาตรา 14(5) สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะสะท้อนความพยายามควบคุมพฤติกรรมแล้ว ยังพยายามควบคุมความคิดด้วย นี่คือยุคของเผด็จการเต็มรูปแบบ

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ฟ้องประเทศกูมีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ถือว่าเล่นแรง แต่ไม่เข้าข่าย เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับ การต่อต้านกับคณะรัฐประหารนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเนื้อเพลงชักชวนก่อให้เกิดความรุนแรงด้วยกำลัง มีแต่การชักชวนให้ชูนิ้วกลางตอนจบเพลงก็เท่านั้น

ใจจริงอยากท้าให้เค้าฟ้องจะได้สู้กันในศาล เพื่อให้ชัดเจนกันว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ

สุชาติ แสงทอง

นักวิชาการด้านเพลงการเมือง ศึกษาเพลงปฏิวัติ ม.ราชภัฏนครสวรรค์

ฟังครั้งแรกแล้วเห็นรากฐานความคิดในเนื้อเพลง แม้เกิดขึ้นปัจจุบัน แต่เพลงการเมืองเกิดมาในสังคมสยามเป็นช่วงๆตลอดเวลา หนีไม่พ้นจากแรงบันดาลใจ ในฐานความคิดของผู้สร้าง เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย

ความงดงามของดนตรีคือ ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ เป็นการสร้างศิลปะมาต่อสู้กัน ประเทศกูมี คือความงดงามหนึ่งของประวัติศาสตร์เพลงการเมืองไทย

ในแต่ละยุค เพลงการเมืองมีความแตกต่างกันไป ประเทศกูมี เป็นแร็พพาความรู้สึกนึกคิดของเพลงไปกะเทาะความรู้สึกของผู้คน ใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามาผสมผสาน ทำให้เกิดจิตสำนึกรวมหมู่บางอย่าง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เพลงบางอย่างผู้รับอาจไม่รู้เลยว่ามีนัยยะสำคัญที่อาจทำให้คนตกเป็นเหยื่อทางการเมือง เช่น สมัย ร.4 อังกฤษเข้ามา มีการนำเพลง god safe the queen ก็มาแต่งเป็นเพลงฟังในราชสำนัก สมัย ร.5 เกิดการเปลี่ยนแปลง มองว่า เราไม่ใช่เมืองขึ้นของอังกฤษ ก็เป็นปัจจัยภายนอกภายใต้การล่าอาณานิคม

ยุคที่เห็นบทเพลงการเมืองมากที่สุด ในสมัยจอมพล ป. ที่การสร้างเพลงปลุกใจให้รักชาติ ใช้เพลงตอกย้ำ ให้ทำตามนโยบายของรัฐ เช่น เพลงสวมหมวก เพลงก๋วยเตี๋ยว เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ขณะเดียวกัน ก็เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามา เช่น จีน จะมีเพลงจีนมากมาย มีลักษณะการปลุกระดมการต่อต้านอำนาจรัฐ จนถึงช่วงหนีเข้าป่า

นัยยะการสร้างเพลงปฏิวัติเกิดจากนักปฏิวัติโดยตรง อยากสร้างแนวคิด ขอแค่กีตาร์ตัวเดียวเพื่ออยากสร้างความเปลี่ยนแปลง

ถ้าจะนิยามประเทศกูมีว่า เป็นเพลงการเมืองก็อาจใหญ่เกินไป นี่จึงอาจจะเป็นเพลงปลุกใจลักษณะหนึ่ง ที่ไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่มาจากภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ โดยรากฐานผมเชื่อความบริสุทธิ์ของกลุ่ม ที่ผิดหวังกับความรัก

ขอบคุณกลุ่ม RAD ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นพลังจากบทเพลงที่ทรงคุณค่า เพลงการเมือง ไม่ได้หายไป แต่เปลี่ยนรูปไป เพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมจะไม่มีอีกแล้ว จะมีแต่เพื่อชีวิตของพวกเรา พื้นที่เหล่านี้จะขยายได้อีก ในเชิงปรัชญา เราจะเห็นอุดมการณ์การต่อสู้ด้วยทิศทางของกลุ่ม RAD ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองจะเห็นกลุ่มฮีโร่ออกมาเรื่อยๆ แต่นี่จะเป็นยุคใหม่ ที่จะพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้ทำให้เราเห็นจิตใจและอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้เพลงร่วมสมัยในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน