คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ข้อสรุปหลักเกณฑ์สร้างความปรองดองของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอให้ใช้อำนาจ มาตรา 44 นิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกปัด แต่ไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษเพียงแต่ให้ไปหาวิธีมา

ในมุมมองของพรรคการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ (กสม.) นักสันติวิธีมองประเด็นนี้อย่างไร

สามารถ แก้วมีชัย

แกนนำภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย

ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนิรโทษให้ประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองและมีคดีต้องโทษอยู่ในขณะนี้ และได้พูดเรื่องนี้มาหลายครั้ง เชื่อว่าพูดและเสนอประเด็นนี้ก่อนกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสียด้วยซ้ำ

หากเป็นไปได้อยากให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสีเสื้อ เฉพาะคดีที่เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น ไม่รวมคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต

ถือเป็นการใช้อำนาจพิเศษ ในทางสร้างสรรค์ และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยอมใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมให้กลุ่มคนเหล่านี้ จะเป็นการดีมาก ถือเป็นการช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งกับผู้ที่ต้องคดีไปจนถึงครอบครัว ที่สำคัญเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้

การใช้มาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมถือเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพ เพราะหากมัวแต่เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา รับรองว่าเถียงกันไปมา ใช้เวลานาน แถมเรื่องไม่มีทางจบ

ดังนั้นขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้มาตรา 44 ในเรื่องนี้ออกมาเลย จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาดูว่ามี กี่คน กี่คดีที่เข้าข่าย เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดความรวดเร็ว เมื่อดูจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

เชื่อว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ทำได้ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ถือเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง คนกลุ่มนี้แค่ไปเดินขบวนหรือประท้วงเท่านั้น ถือเป็นคดีที่ไม่ร้ายแรง สมควรที่จะให้อภัย

อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำทันที อย่างน้อยถือเป็นของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้กับคนเหล่านี้ ให้พวกเขาได้มีอิสรภาพ ปลอดจากคดีความต่างๆ ไม่ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการเยียวยาที่ดีแล้ว

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นาน จากนั้นก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ป ดังนั้นการสร้างบรรยากาศความสามัคคีและปรองดอง ถือเป็นเรื่องจำเป็นและเวลานี้ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมแล้วที่ควรดำเนินการ

อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ที่จริงก่อนพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม ต้องรู้ก่อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร ต้องมีการสืบสวนสอบสวน เปิดเผยความจริงแก่สาธารณะว่าใครเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และใครที่เป็นคนผิดก็จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หลังจากนั้นค่อยว่ากันว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร แต่ถ้าหากไม่มีการเปิดเผยความจริงเลยแล้วอยู่ๆ ไปนิรโทษกรรมเลยก็จะทำให้สังคมไม่มีการเรียนรู้และอีกหน่อยก็จะเกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

อย่าลืมว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้สาธารณะ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและสุดท้ายก็ใช้นิรโทษกรรม อีกหน่อยใครจะใช้ความรุนแรงต่อกันก็ได้ โดยเฉพาะรัฐ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามถ้าหากเกิดเหตุรุนแรงก็ต้องมีความรับผิดชอบ และต้องมีการเปิดเผยความจริงว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาใครขึ้นศาลอย่างเดียว แต่หมายความว่าต้องมีการเปิดเผยความจริง ต้องมีการชดใช้ และที่สำคัญถ้าหากว่าเป็นการละเมิดที่เกิดจากรัฐ รัฐเองก็ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย

สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยในต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องการเยียวยาจิตใจ คือประเมินไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ต่างประเทศเขาทำก็คือการเปิดเผยความจริง การสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ เป็นการรักษาความทรงจำ

เรื่องการเปิดเผยความจริงเป็นส่วนหนึ่งของการให้มีการบันทึกประวัติศาสตร์ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร จะเป็นหนทางที่จะเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ต้องอย่าลืมว่าบุคคลที่ เสียชีวิตไปแล้วเขายังมีครอบครัวอยู่ ดังนั้นผู้เสียหายจึงต้องรวมถึงครอบครัวด้วย

บ้านเราเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่มีใครที่จะต้องรับผิดหรือรับผิดชอบ ดังนั้นเรื่องแบบนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าจะนิรโทษกรรมใคร ต้องรู้ก่อนว่ามีใครบ้างที่เป็นคนผิด ทำผิดอย่างไร และหลังจากนั้นอาจคิดว่าแล้วเราจะกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างไร

การเยียวยาจิตใจมันอาจต้องมีการขอโทษด้วยซ้ำ การรับผิด การขอโทษ ตรงนี้เป็นการเยียวยาจิตใจเหมือนกัน ส่วนตัวเห็นว่าต้องมีการสืบสวนและเปิดเผยความจริงว่าใครเป็นคนผิด รับโทษอย่างไร แล้วค่อยมาพูดกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ส่วนตัวมองว่านิรโทษกรรมไม่ได้มีความสำคัญกับการปรองดองเลย เพราะถ้านิรโทษกรรมแล้วยังปล่อยให้เกิดความคลุมเครืออยู่ ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะสังคมจะไม่ได้เรียนรู้เลย

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการปรองดองคือการสร้างหลักประกันว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และสิ่งสำคัญของการสร้างหลักประกันคือต้องมีการลงโทษคนที่ทำผิด ดังนั้น มองว่าการนิรโทษกรรมน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการการปรองดอง

และการสร้างความปรองดองไม่ใช่เรื่องระหว่างคนสองคนหรือคนสองกลุ่ม ต้องอย่าลืมว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง คนในสังคมได้รับผลกระทบด้วย เรื่องนี้เป็นความทรงจำร่วมของทุกคน ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

สิ่งที่อยากเห็นคือการมีหลักประกันว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างน้อยต้องมีคนออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

ม.มหิดล

ส่วนตัวมองว่ากระบวนการปรองดองคือต้องมีทั้งการนิรโทษกรรมและการอภัยโทษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไป เพราะทั้ง 2 ปัจจัย เป็นปัจจัยที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่กับการปรองดอง และเป็นสิ่งที่ควรมีการพูดคุยกันว่าจะเกิดกระบวนการนิรโทษกรรมได้อย่างไร รวมไปถึงเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย

ส่วนแนวทางการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่รวมแกนนำด้วยนั้น อยากให้จำแนกออกเป็น 2 เรื่อง

1.เรื่องของบุคคลที่หากโฟกัสที่บุคคลหรือกลุ่มคน ต้องพิจารณาว่ากลุ่มคนใดควรได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ซึ่งบุคคลที่มาร่วมชุมนุมแต่ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้มีส่วนได้เสียหลัก ควรเป็นกลุ่มที่ได้รับการนิรโทษกรรมก่อน

ขณะที่แกนนำอาจจะพิจารณาได้ในหลายกรณี ต้องดูด้วยว่าเขาจะเสียสิทธิตรงนี้หรือไม่ เพราะแกนนำการชุมนุมหรือรัฐมนตรีบางคนอาจไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเด็ดขาด จะต้องรับโทษพร้อมบุคคลอื่นด้วยหรือไม่

และ 2.เรื่องเนื้อหาว่าคดีแบบไหนที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ เพราะบางคดีอาจยาก ซึ่งหากมีการนิรโทษกรรมก็อาจทำลายความรู้สึกของคนในสังคมได้ จึงต้องพิจารณากันว่าคดีใดที่ยอมกันได้

ส่วนการเสนอให้ใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมนั้น เราควรตั้งกรอบมาตรฐานการนิรโทษกรรมก่อนจะดีกว่า เพื่อเวลานำไปใช้จะได้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทุกกรณี

และแม้ว่าการนิรโทษกรรมจะมีความสำคัญแต่คงไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่หากไม่ทำแล้วความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น เพราะการนิรโทษกรรม เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงว่าหากไม่นิรโทษกรรมจะไม่มีความปรองดอง

ขณะที่เรื่องการเสนอใช้มาตรา 44 รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง อย่าคิดว่าตัวเองลอยตัวเหนือความขัดแย้งเพราะหลายคนในรัฐบาล ก็เคยเป็นข้าราชการที่เคยปฏิบัติหน้าที่ช่วงที่เกิดความขัดแย้งในอดีต ดังนั้น รัฐบาลควรคิดให้ดี

ส่วนการเยียวยาถือเป็นองค์ประกอบรวมๆ เป็นการเยียวยาอดีตให้เข้าใจปัจจุบันและมองอนาคตร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้

ถาวร เสนเนียม

แกนนำ กปปส.

ความขัดแย้งของคนเกิดจากไม่กี่เรื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติ หน้าที่จนเป็นเหตุให้มีฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความไม่เสมอภาคจากการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมือง

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องประชาชนก็ออกมาชุมนุม การปลุกระดมให้ฮึกเหิมอาจเกินเลยไปบ้าง แต่เกิดจากความไม่พึงพอใจด้านการเมืองหรือเจ้าหน้าที่

เห็นด้วยกับการจะนิรโทษกรรมให้คนกลุ่มนี้ แต่บางคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ ใช้จังหวะการชุมนุมไปสร้างก่อคดีรุนแรง หรือทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำผิดด้านความมั่นคง เช่น ทำผิดมาตรา 112 หรือทุจริต หรือก่อคดีรุนแรงปล้นฆ่า ขว้างระเบิดเป็นเหตุให้มีคนตาย เผาสถานที่ค้าขายของเอกชน เผาสถานที่ราชการ เหล่านี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่ทุกอย่างต้องศึกษาให้ถ่องแท้รอบคอบ

ที่สปท.ด้านการเมือง นำเสนอเรื่องนี้เป็นการนำเรื่องที่ศึกษามานำไปสู่การปฏิบัติ จึงไม่น่ามีอะไรแอบแฝงที่มีการเสนอในช่วงนี้ และนักการเมืองทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกสี ก็เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมให้พี่น้องกลุ่มนี้อยู่แล้ว เป็นความล่าช้าด้วยซ้ำไปในการดำเนินการ

การจะนิรโทษควรดูจากฐานความผิด ถ้าแกนนำไปฆ่าคนก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษ อย่าดูสถานะของบุคคล เช่น ถ้าบอกว่านาย ก มีความผิดทุกความผิด ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง หรือความผิดร้ายแรง นาย ก จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมเลย อย่างนี้ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นขอให้ดูฐานความผิดด้วย

ทางออกของการนิรโทษคือการออกเป็นพ.ร.บ.โดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา 3 วาระ เพื่อให้เกิดความรอบรอบ

และการพิจารณาให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายนำเสนอความคิดเห็นของสมาชิกสนช. ประชาชนจะได้รับรู้รับทราบว่าสมาชิกสนช.คิดอย่างไร และจะนิรโทษกรรมกับคนกลุ่มไหน

เพราะการนิรโทษกรรมมีทั้งคนได้และไม่ได้ ถ้า นายกฯใช้อำนาจเด็ดขาดคือใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการก็เสีย ดังนั้นการที่นายกฯตัดสินใจไม่ใช้มาตรา 44 นั้นถูกต้องแล้ว

ข้อเสนอของสปท. เรื่องการเยียวยาทั้งเงินและด้านจิตใจนั้นมีความจำเป็น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการที่รัฐปล่อยให้มีการกระทบกระทั่งกันจนเกิดผลเสียหาย บางคนถูกกระทำต่อชีวิตร่างกาย ถูกกระทำต่อทรัพย์สิน ชื่อเสียงหรือทำให้เสียอิสระ ก็ควรจะมีการพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม

และขอให้คณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ โดยยึดหลักทางราชการ และหลักความเป็นธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน