ความเชื่อมั่นที่ว่านายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งจะเป็น “หน้าเดิม” มิได้เป็นเรื่องแปลก

ไม่จำเป็นต้องใช้สังหรณ์ระดับ “รองนายกรัฐมนตรี”ก็ได้

ไม่จำเป็นต้องใช้โหราพยากรณ์ ไม่ว่าจะมาจากสำนักสุขิโต ไม่ว่าจะมาจากสำนักเมืองพะเยา

เพราะว่า “รัฐธรรมนูญ” กำหนดเอาไว้เช่นนั้น

รัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่จะกำหนด 250 ส.ว.ไว้ให้เข้าไปร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้นหากแต่ยังมาจากการบริหารจัดการของ “คสช.”อีกด้วย

ใครก็ตามที่มีบทบาทในการแต่งตั้ง 250 ส.ว.ใครคนนั้นก็จะได้ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”มาได้อย่างง่ายดาย

เพียงแต่มี 126 ส.ส.มายกมือให้เท่านั้นเอง

บุคคลระดับ 400 ซีอีโอ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ไม่ว่าจะมาจากต่างประเทศ ย่อมมีข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพออันยืนยันสังหรณ์ของบุคคลระดับ “รองนายกรัฐมนตรี”ได้

เพียงแต่คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”แล้วจะบริหารและปกครองได้หรือไม่

หากในสภาผู้แทนราษฎรมี 300 ส.ส.ที่เป็น “ฝ่ายค้าน”

ปราการด่านแรกที่จะเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่ในมือของ “ฝ่ายค้าน” ไม่ใช่ฝ่ายที่มีเพียง 126 เสียงอย่างแน่นอน

ปราการด่านต่อมาก็คือจะผ่านกระบวนการแถลง “นโยบาย”ไปได้อย่างไร

ในเมื่อ “ฝ่ายค้าน” มีจำนวนมากกว่า “ฝ่ายรัฐบาล”

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องนึกถึงการผ่านร่างพรบ.งบประมาณรายจ่าย อันถือว่าเป็นกฎหมาย “การเงิน”โดยที่ 250 ส.ว.ไม่มีส่วนในการพิจารณาด้วย

นี่คือความเป็นจริงของ “รัฐบาล”ที่มิอาจปกครองและบริหาร

ความมั่นใจว่า นายกรัฐมนตรีต้องอยู่ในมือ “คนหน้าเดิม”มีพื้นฐาน มาจาก “รัฐธรรมนูญ”

ความมิอาจ “บริหาร”ก็มีพื้นฐานมาจาก “รัฐธรรมนูญ”เช่นกัน

เมื่อวิกฤตทางการเมืองหลังเลือกตั้งปรากฏขึ้น ทุกสายตาย่อมจ้องมองไปยัง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “กรธ.”

ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

การคิดบัญชีทางการเมืองจะต้องปะทุขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน