คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความขัดแย้งเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่เชื่อกันว่าก่อให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 อีกทั้งเกิดความเชื่อตามมาว่า จะต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ไม่ว่าโพลสำรวจความคิดเห็นในเรื่องนี้ระหว่างวันที่ 2-7 ม.ค.2560 จะถูกต้องมากน้อยเพียงใด น่าเชื่อถือหรือไม่ ความเชื่อว่าการปฏิรูปจะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ก็ถูกตอกย้ำอยู่เป็นนิจ

ทั้งที่การปฏิรูปนั้นริเริ่มและดำเนินการกันอยู่ในวงจำกัด

อีกทั้งในความเป็นจริง ความขัดแย้งในสังคมไม่เคยหมดไปและคงไม่อาจหมดไป โดยเฉพาะเมื่อประเด็นทางสังคมมีความซับซ้อนหลากหลาย มากขึ้น และสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ ได้มากขึ้น

ความขัดแย้งจึงย่อมดำรงอยู่ เพียงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา

ในประเทศประชาธิปไตยต่างเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งของคนในสังคมในประเด็นต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และผันเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ฯลฯ

เพียงแต่ประเทศเหล่านั้นอาศัยหลักประชา ธิปไตยจัดการหาทางออกข้อยุติในความขัดแย้ง เช่น ชุมนุมแสดงความคิดเห็น ระดมรายชื่อคัดค้านหรือสนับสนุน ทำประชามติ ให้ตัวแทนลงมติในรัฐสภาเพื่อนำไปสู่การตัดสิน ฯลฯ

เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นอย่างไรก็ต้องจัดการไปตามนั้น ในช่วงเวลานั้นๆ กระทั่งเมื่อเสียงส่วนใหญ่เปลี่ยน การจัดการก็ต้องปรับแก้ให้ตอบสนองได้

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะความขัดแย้งหมดไป แต่เป็นกติกาที่เสียงส่วนน้อยเคารพในเสียงส่วนใหญ่

การคาดหมายถึงการปรองดอง จึงสำคัญมากที่ต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงในเรื่องความ ขัดแย้ง

การกล่าวอ้างว่าเคยมียุคสมัยที่ประเทศไร้ความขัดแย้ง เป็นเพียงจินตนาการที่ไม่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง

ยุคที่ชาวบ้านในท้องถิ่นถูกเอาเปรียบ แย่งชิงทรัพยากร และรับเคราะห์จากการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กลับเงียบงันราวกับไม่มีความขัดแย้ง เป็นเพียงการถูกกดทับและปิดบังอำพราง ซึ่งในปัจจุบันไม่อาจกลับไปเป็นเช่นนั้นได้อีก

มีแต่การอยู่กับความขัดแย้งด้วยกติกาประชาธิปไตยจึงเป็นหนทางของการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน