บทบรรณาธิการ : ไม่เป็นมงคล

บทบรรณาธิการ : ไม่เป็นมงคล – การเลือกตั้งครั้งแรกที่จะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร เกิดประเด็นโต้แย้งขึ้นมาว่าควรมีองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์หรือไม่

คำตอบสำหรับเรื่องนี้ไม่ยากแต่อย่างใด หากนึกถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ

ทั้งในด้านการสร้างความน่าเชื่อถือว่า การเลือกตั้งนี้เปิดเผยจริงใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยไม่มีอะไรต้องปิดบัง ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่พิเศษเพื่อบรรลุเป้าหมายชัยชนะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งการเป็นเครื่องยืนยันว่าการฟื้นฟู ประชาธิปไตยนั้นเริ่มต้นจริง ไม่ใช่แค่การทาสีเคลือบเปลือก

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังที่มีตัวอย่างเป็นประเทศเพื่อนบ้านให้เห็นมาแล้ว

การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของไทย เมื่อปี 2554 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นผลดีของการเปิดกว้างให้องค์กรระหว่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์

ทำให้ประเทศกลับมาเป็นที่ยอมรับนับถืออีกครั้ง หลังผ่านพ้นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และความวุ่นวายมาตั้งแต่เหตุรัฐประหารปี 2549

แม้นานาประเทศประเมินได้ว่า ความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทยนั้นจะไม่หายได้ในช่วงข้ามคืน หรือด้วยการเลือกตั้งครั้งสองครั้ง

แต่อย่างน้อย การเปิดกว้างให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์คือการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยพร้อมจะมีการเลือกตั้งซึ่งเป็นกิจการภายในที่ได้มาตรฐานความมีเสรี และเป็นธรรมในระดับสากล

ข้ออ้างของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามา สังเกตการณ์ ว่าไม่เป็นมงคล เพราะประเทศที่มีองค์กรต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จะเกิดกับประเทศที่มีปัญหา ไม่ดีนั้น เป็นตรรกะที่บิดเบี้ยว

ไม่ต่างจากการสนับสนุนให้ใช้วิธีรัฐประหารแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

ยิ่งอ้างว่า ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี คงไม่อยากถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหา เพราะไทยมีรัฐประหารที่ไม่เหมือนชาติใด ยิ่งสะท้อนถึงความอ่อนด้อยและไม่มีวุฒิภาวะในด้านประชาธิปไตย

คำว่ามงคลหมายถึงเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ หากจะตัดสินว่าการยึดอำนาจจากประชาชนเป็นมงคลหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน