คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐ โดยให้แก้ไขกฎหมายและอัตราโทษในความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี 2.คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท-10 ล้านบาท ให้จำคุก 10 ปี 3.คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 10-100 ล้านบาท จำคุก 20 ปี 4.คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่า เกิน 100-1,000 ล้านบาท ให้จำคุกตลอดชีวิต และ 5.คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต

นักวิชาการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความเห็น ดังนี้

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน

กรรมาธิการการเมือง สนช.

องค์ประกอบของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. มีนักการเมืองอยู่ด้วย ข้อเสนอพวกนี้ คล้ายๆ นักการเมือง ที่เคยเล่นการเมืองอยู่ก็รู้ จึงคิดว่าเจตนาของ กมธ.การเมือง สปท. คงพยายามให้มีอะไรกำกับที่สะท้อนความรับผิดชอบของคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบมากกว่าคนปกติ

ต้องมาคุยกันว่า หลักคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง บางเรื่องข้าราชการประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำอย่างนี้ การจะกำหนดโทษให้เป็น 2 เท่าของประชาชนทั่วไป อาจจะไม่ใช่ แต่ถ้าเป็น การกระทำผิดตามบทบาทอำนาจหน้าที่ อาจจะต้องกำหนดโทษสูง

คิดว่าเจตนารมณ์ของคนเสนอ คงอยากจะให้การเมืองดีขึ้น พฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดีขึ้น

ส่วนการเสนอให้ปรับอัตราโทษที่รุนแรงขึ้นนั้น ขอยังไม่ให้ความเห็นเพราะเราเป็นผู้พิจารณาตัวกฎหมาย ถ้าไปให้ความเห็นเท่ากับเป็นการชี้นำได้

แต่มาตรการนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักการเมืองได้หรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ แต่ที่เห็นในอดีต คนที่เข้ามาเล่นการเมืองก็หาช่องว่างของกฎหมายที่จะบิดพลิ้ว เราอยากเห็นคนทำตามตัวบทกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้ามาหาช่องโหว่ของกฎหมายเล่นกันอีก ก็เหมือนเดิม

เป้าหมายที่คิดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน คืออยากเห็นการเมืองดี ซึ่งคนที่จะทำให้การเมืองดี ท้ายที่สุดต้องเป็นนักการเมือง ถ้านักการเมืองอะไรก็ไม่เอาสักอย่างแล้วการเมืองจะดีได้อย่างไร

ส่วนที่กำหนดโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตนั้น ขึ้นอยู่กับการเทียบกันว่าถ้าผิดกฎหมายในประเด็นเหล่านี้ส่อให้มีผลกระทบ เสียหายต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ความ เสียหายจากการใช้อำนาจทางการเมืองถ้าถึงระดับรุนแรงเทียบกันได้กับกฎหมายอาญาที่ลงโทษประหารชีวิต ก็คงมีเหตุผลอธิบายได้

แต่ในทางการเมืองคิดว่าใช้เกณฑ์ในทางอาญาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะมีอีกระดับหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งตรงนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบ้านเราไม่ค่อยมี พอไม่ค่อยมีก็จะไปจับทางอาญาอย่างเดียว

ในทางการเมืองถ้าจะให้มีพัฒนาการ ต้องทำให้ชัดเจนว่า การกระทำที่ไม่ถูกต้องจากตรงนี้ถึงตรงนี้ อย่างน้อยคุณต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้ามีตรงนี้จะไปคุยกันทางอาญาก็คงมีความจำเป็นน้อยลง เช่น พอผิดพลาดก็ขอโทษ ลาออก อย่างนี้ การจะไปถึงอาญาก็มีความจำเป็นลดน้อยลง

ถ้าตรงนี้ไม่มีเลยทุกคนยืนหยัดไม่ออก ไม่รับผิดชอบ สู้ลูกเดียว ก็ต้องไปคุยเรื่องอาญา ซึ่งนักการเมืองต้องปรับวัฒนธรรมทางการเมืองของการแสดงความรับผิดชอบด้วย และรู้ว่าตัวเองไม่ควรทำอะไร

ถ้าไปทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบ เช่น เลิกเล่น การเมืองด้วยตัวเอง

ศิโรจน์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การเสนอมาตรการปฏิรูปหรือข้อบังคับ การควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ โดยกำหนดให้มีบทลงโทษสุงสุดคือการประหารชีวิต คงเป็นแค่แนวคิดของสปท.เท่านั้น การจะนำไปปฏิบัติ ใช้จริงคงทำไม่ได้

หากจะว่ากันด้วยหลักกฎหมายการแก้ไขระเบียบข้อบังคับต้องแก้ทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะบางมาตรา อีกประเด็นหนึ่งคือ สนช.ทราบดีว่า การแก้ไขหรือเปลี่ยนกฎหมายที่โทษรุนแรงขนาดนั้นคงทำไม่ได้

การกระทำของสปท.เป็นเพียงแค่การเสนอ แนวคิดเพื่อความสะใจเท่านั้น หวังโจมตีฝ่ายตรงข้ามหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจหลังมีการเลือกตั้ง เป็นการสร้างภาพให้สังคมรู้ว่าองค์กร ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่

หากลองศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนกว่านี้ จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาแล้วทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นหรืออีกหลายๆ ประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่นำข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้มาปฏิบัติใช้กับนักการเมืองหรือ เจ้าหน้าที่รัฐ

เพราะประเทศเหล่านั้นมองว่านักการเมืองไม่ใช่ฆาตกร นักค้ายาเสพติด ไปปล้นฆ่าใคร เขาจึงไม่ปฏิบัติเช่นนั้น การประหารชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การคอร์รัปชั่นไม่ได้มีบทลงโทษที่รุนแรง อะไรขนาดนั้น การนำเสนอมาตรการแบบนี้ ออกมาเหมือนทำให้สังคมมองนักการเมืองว่าเป็นพวกฆาตกร

ดังนั้น สาระสำคัญของการกำหนดมาตร การเช่นนี้ ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น แบบยั่งยืน เพราะยิ่งบทลงโทษรุนแรงเท่าไหร่ ปัญหาต่างๆ จะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือ ความ สมเหตุสมผลของการบังคับใช้มาตรการ ดังกล่าว คิดว่าในตัวร่างรายงานปฏิรูป การควบคุมและการตรวจสอบใช้อำนาจ ของรัฐไม่มีคำอธิบายหรือองค์ความรู้ใดๆ มาประกอบให้สมเหตุสมผลแม้แต่น้อย

หากถึงขั้นผ่านที่ประชุมของสนช. เชื่อว่าถ้าเปิดเวทีดีเบตกันตรงๆ สปท.จะไม่สามารถตอบข้อสงสัยใดๆ ได้เลย หรืออาจจะมีแต่ในคำแถลงที่ไม่ชี้ชัดว่าเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งนั่นยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

ถามว่าถ้าผ่านสนช.ไปแล้วจะสามารถ นำมาปฏิบัติใช้ได้จริงหรือไม่ ตอบเลยว่า ไม่ได้ ไม่จริง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ข้างต้นว่า ถ้านำร่างรายงานดังกล่าวมาใช้ ก็เตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้เลย

สรรเสริญ พลเจียก

เลขาธิการป.ป.ช.

การกำหนดโทษในคดีคอร์รัปชั่นนั้น เห็นด้วยในหลักการว่าจะต้องมีความชัดเจนของการพิจารณาโทษเพราะที่ผ่านมามีโทษเท่ากันหมด และศาลสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง

แต่ถ้าลงรายละเอียดถึงขั้นว่าคดีทุจริตอย่างนี้ต้องลงโทษอย่างนี้ คดีทุจริตอย่างนั้นต้องลงโทษอย่างนั้น ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาคือการพิจารณาโทษ เพราะถึงแม้ว่าจะมีโทษประหารชีวิตก็จริง แต่วิธีการลงโทษนั้นเป็นเรื่องของศาลอยู่แล้ว จึงต้องอยู่ที่การบังคับใช้

ข้อเสนอดังกล่าวสปท. คงต้องการให้เห็นว่าหากกระทำการทุจริตมีโทษอัตราที่สูงมาก มีความเสี่ยงภัยที่สูงมาก ดังนั้นคงต้องคิดให้หนักขึ้น ในมุมหนึ่งคงทำให้คนกลัว ไม่กล้ากระทำการทุจริต ถือเป็นเชิงการป้องกันก็ได้ และถ้าเป็นเรื่องปราบปราม คือถ้ากระทำการทุจริตแล้วได้รับโทษขนาดนี้จะทำหรือไม่

อีกทั้งสถานการณ์ขณะนี้ทุกคนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูล แจ้งเบาะแสแล้ว หากคิดทุจริตคงต้องคิดว่าทำแล้วถูกจับไม่คุ้ม

หากถามว่าจะสัมฤทธิผลหรือไม่นั้น คงต้องอยู่ที่จิตสำนึกของคนกระทำความผิด ต่อให้มีโทษสูงอย่างไร คนที่ไม่เปลี่ยนนิสัย ยังแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ถึงอย่างไรเขาก็ทำ ยอมไปเสี่ยงตายเอา และไปหาช่องหาวิธีเพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบ ไม่ให้มีพยานหลักฐานในการถูกไต่สวน

ข้อเสนอนี้จึงเป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะทำให้คนยับยั้งชั่งใจในเรื่องการกระทำความผิด แต่ถ้าถามว่าจะยั่งยืนหรือไม่คงต้องมีมาตรการเสริมอีกมากพอสมควร อาทิ การปรับให้คนนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อย่าเห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง

นั่นคือตัวเองมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ซึ่งถ้ามีจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ จะดีกว่าการใช้กฎหมายที่มีโทษรุนแรง และยั่งยืนกว่า เปรียบเทียบ ได้ว่าเปลี่ยนคนเปลี่ยนยากกว่าแต่จะยั่งยืนกว่า

สำหรับโทษประหารชีวิตนั้นในเวลานี้จะต้องคิดหนักพอสมควร เพราะประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก อยู่ในกฎหมายของ UNCAC คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ที่หลายประเทศต่อสู้และ ต่อต้านคัดค้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีโทษ สูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

จึงอาจมีผลกระทบต่อประเทศไทย ในกรณีที่บางเรื่องหากต้องขอความร่วมมือไปยังประเทศที่เป็นต้นทางในเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่น ถ้าเขาเห็นว่าประเทศไทยมีอัตราโทษเรื่องทุจริตการให้สินบนถึงขั้นประหารชีวิต บางประเทศอาจมีข้อแม้ ในการไม่จัดส่งเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องให้กับเรา อาจทำให้การไต่สวนหรือสอบสวนของเราเป็นปัญหาอุปสรรคได้เช่นกัน นอกจากนี้ อาจทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในบางกรณีน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้รับความร่วมมือจากสากล มุมเหล่านี้ จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ

จึงขอไม่สรุปว่าเหมาะสมหรือรุนแรงไปหรือไม่ แต่ถือเป็นข้อเสนอที่ดี เพียงแต่ต้องคิดอีกหลายมุม

วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นขึ้นอยู่กับกระบวนการ แต่จะสังเกตเห็นได้ว่ากระบวนการตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นมักไม่ทำงานในกระบวนการรัฐบาลปกติ และจะเดินหน้าได้ดี เมื่อเกิดรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหา ในการทำหน้าที่ เหมือนกับการใช้อำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรม

การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีข้อมูลที่ทำให้ประชาชนหายสงสัย โดยต้องเอากลไกการตรวจสอบใส่ในระบบ ตรวจสอบทุกฝ่ายให้ เท่าเทียมเหมือนกันหมด

แม้จะออกกฎหมายมาควบคุมนักการเมือง และข้าราชการประจำ แต่หากไม่พัฒนาระบบการตรวจสอบจะมีโทษหนักอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตได้

อีกทั้งข้อเสนอที่ออกมานั้นจะมุ่งพัฒนากลไกการตรวจสอบ หรือต้องการเพียงแค่มุ่งควบคุมพฤติกรรมของคนเท่านั้น

ที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เรื่องการตีความ ที่ต้องใช้ดุลพินิจว่า ผู้กระทำผิดนั้น ทำผิดจริง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ มีความพยายามชี้ความผิดด้วยข้อหา การละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ เหมือนกรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีการชี้ผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

กรณีนี้หากเกิดขึ้นกับการซื้อรถถังของกองทัพ แล้วเกิดรถถังพังจะเข้าข่ายเดียวกับกรณีรับจำนำข้าวหรือไม่

การจะร่างกฎหมายนี้ออกมาต้องพูดคุยในรายละเอียดอีกมาก ทีเดียว การจะควบคุมนักการเมืองต้องทำอย่างไร

จริงอยู่การมีโทษที่หนักสามารถทำให้ผู้ที่จะกระทำความผิด เกิดความกลัวได้ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังมานี้ การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นธรรม และเท่าเทียมกันทุกฝ่าย

เนื่องจากบางคดี มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกคดีการตรวจสอบกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า มีข้ออ้างต่างๆ นานาเกิดขึ้น

การสร้างกลไกในลักษณะนี้ขึ้นมา มองว่าไม่เวิร์ก และอาจ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น ซึ่งใน ต่างประเทศสิ่งที่ดำเนินการในเรื่องทุจริตคือต้องแก้เรื่องกลไก และเรื่องดุลพินิจ ไม่ให้ใช้อำนาจที่มีดุลพินิจ และต้องมีการตีความ ที่ชัดเจน

อีกทั้งที่ผ่านมาเราศึกษาเรื่องคอร์รัปชั่นในต่างประเทศน้อย และไม่นำมาปรับใช้กับประเทศของเรา

เรื่องโทษประหารจึงไม่เห็นด้วย เพราะรุนแรงเกินไป และโทษที่กำหนดใช้ในปัจจุบัน ถือว่าเพียงพอแล้ว

เพียงแต่ต้องปรับปรุงกลไก และมีระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน