3 พรรคสะท้อนต้นเหตุ “ประเทศไม่ตรงปก”

หมายเหตุ : ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมอภิปราย ในงานเสวนาหัวข้อ “ประเทศไม่ตรงปก” พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันที่ต้องอยู่ใต้การบริหารของรัฐบาลทหาร และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปี 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 8 พ.ย. โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ปิยบุตร แสงกนกกุล

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

การเมืองไทยไม่ตรงปกคือปกเป็นอย่างหนึ่ง เนื้อเป็นอย่างหนึ่ง พบว่ามีหลายเรื่องมากไล่จากรัฐธรรมนูญที่ต้องเกิดจากการก่อตั้งร่วมกัน แต่ฉบับ 2560 ที่บอกผ่านประชามติ ได้รณรงค์เต็มที่หรือไม่ทั้งฝ่ายรับหรือไม่รับ อีกทั้งเป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2557 จึงไม่ใช่การก่อตั้งร่วมกัน

ที่บอกรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดไม่มีกฎหมายใดขัดแย้งได้แต่มันไม่ใช่ เพราะมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 ที่เลิกใช้ไปแล้วมีการระบุให้คำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ

ส่วนในรัฐธรรมนูญเขียนว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ในข้อเท็จจริงเรามีอำนาจมากกกว่าคสช.หรือไม่ คนที่ทำผิดกฎหมายแล้วนิรโทษกรรมตัวเอง กลับบอกให้คนอื่นเคารพกฎหมายนี่คือความย้อนแย้ง

สนช.ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ คนรุ่นนี้โชคร้ายไม่เจอสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เจอแต่สนช.ที่โหวตชนะกันต่อ 0 บางเรื่องใช้เวลาไม่กี่นาที มีนายกฯพูดคนเดียวในสภา ไม่มีการอภิปราย

รัฐบาลยิ่งมาจากการยึดอำนาจนานเท่าไรยิ่งไม่ตรงปก แม้ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องบอกเป็นประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ เพราะนี่คือสิ่งที่โลกยึดถือ

ย้อนกลับไปเมื่อ 71 ปี วันที่ 8 พ.ย. 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจ เป็นการปิดฉากอุดมการณ์ของคณะราษฎร ก็คือจุดเริ่มต้นการเอาทหารเข้ามาแทรกแซงรัฐบาล จากนั้นทหารฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างใหม่ เลือกตั้ง เกิดวิกฤตการเมือง จบที่รัฐประหาร วนเวียนมาจนถึงวันนี้

ซึ่งมักบอกว่าสาเหตุเกิดจากนักการเมืองคอร์รัปชั่น ต้านภัยคอมมิวนิสต์ ทหารต้องออกมาล้างท่อ เมื่อท่อตัน กล่าวหาว่านักการเมืองซื้อเสียงเลวร้าย แต่สภาพสังคมที่บังคับให้ต้องมีเลือกตั้ง ทหารก็ต้องไปหาทางลงเลือกตั้ง ทว่าความไม่คุ้นชินก็ต้องดึงนักการเมืองมาช่วย

จึงอยากให้ลองคิดมุมกลับคือวงจรอุบาทว์เกิดจากนักการเมืองโกง หรือทหารยึดอำนาจ ตัดตอนไม่ยอมปล่อยให้กลไกทางการเมืองทำงาน

ประชาธิปไตยมีปัญหาด้วยกันทั้งหมดเพราะเป็นระบอบที่รับประกันเสรีภาพในการแสดงออก การเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติ มีประเทศเดียวที่เหมือนกันหมดคือเกาหลีเหนือ ความหลากหลายจึงเต็มไปหมดในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ทางแก้คือไม่ใช่ไปหาเผด็จการทหารเข้ามาแก้ แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยเข้มข้นขึ้นไปอีก โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นอีก แต่ประเทศไทยคิดกลับตาลปัตรคือวนไปหาทหาร ไม่มีส.ส.ถกเถียงนโยบายสาธารณะกันในสภา มีแค่นายพลสองคนได้พูดในสื่อเท่านั้น

รัฐธรรมนูญที่เกิดจากกระบวนการยึดอำนาจเขียนอย่างไรก็สนับสนุนคนยึดอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนก็จะสนับสนุนประชาชน ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่าเป็นเครื่องมือการทำให้รัฐประหารปี 2557 ฝังเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ให้ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดยคสช. 250 คน เปิดให้ นายกฯไม่ต้องเป็นส.ส.ก็ได้ นี่คือความเจาะจง เมื่อเขียนแบบนี้จะมีอำนาจนอกระบบบีบให้เลือกทหารมาเป็นนายกฯ ก็เพราะขุนศึกทหารไม่ยอมออกไปจากการเมือง

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงแบ่งเป็น 2 พลัง คือ 1.การสืบทอด อำนาจของคสช. จากนักการเมืองในเครื่องแบบทหาร ไปเป็นนักการเมืองในเครื่องแบบทหาร ที่จะลงไปรับการเลือกตั้ง 2.การสกัดการสืบทอดอำนาจ

ความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้นระหว่างนี้ พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจกับสกัดการสืบทอดอำนาจจึงได้รับการปฏิบัติต่างกัน นี่เป็นเดิมพันระหว่าง 2 พลัง

ส่วนหลังเลือกตั้งนั้น ขั้นแรกต้องทำให้การเลือกตั้งนี้เสรี และเป็นธรรม เชื่อว่าประชาชนไม่อยากเห็นการสืบทอดอำนาจ หากฝ่ายสกัดการสืบทอดอำนาจได้รับการเลือกตั้งส.ส.เข้าไปจำนวนมากก็ต้องไปเจอกลไกที่วางสนุ้กไว้เต็มไปหมด ต้องเข้าไปแก้ทีละปม

งานใหญ่อย่างการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำก่อน แม้จะทำยาก แต่จะสำเร็จหรือไม่ไม่ได้ขึ้นกับเสียงในรัฐสภาเพียงอย่างเดียว

เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดกระแสธงเขียวกดดันจนสมาชิกรัฐสภายกมือโหวตให้ผ่าน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 มีความพยายามแก้ แต่ไม่สำเร็จก็เพราะมีพลังอย่างหนึ่งขวางไว้

เสียงสังคมที่บอกว่าเอาด้วยจึงสำคัญต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ทำให้เห็นเลยว่าส.ว.แต่งตั้งขวาง ส.ส.ฝ่ายค้านขวาง ศาลรัฐธรรมนูญขวาง กองทัพทำท่าจะออกมา เอาให้เห็นกันไปเลยเป็นอย่างไร

เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นฉันทามติร่วมกันเลย ความฝันของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คือประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แบบฉบับ 2521 พอเลือกตั้งเสร็จทหารก็จะมาเป็นนายกฯ ถอยไปอีก 40 ปี แล้วมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บังคับไว้บวกลบคูณหาร รัฐประหาร 2557 พาไทยถอยหลัง 60 ปี

ที่สำคัญคือต้องเอาทหารออกจากการเมืองให้ได้ มิเช่นนั้นนายกฯ จะเหมือนโดนปืนจ่อหลังตลอดเวลา รัฐประหารไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ต่อให้มีความขัดแย้งประชาธิปไตยจะเป็นทางออก

ข้ออ้างยึดอำนาจแต่ละครั้งมีเพียงรักษาความสงบและปฏิรูป แต่ปัญหาไม่เคยได้ถูกแก้จะยึดอำนาจกันอย่างเดียวเพียงเท่านั้น

 

2.ภราดร ปริศนานันทกุล

พรรคชาติไทยพัฒนา

ต้องเริ่มต้นดูที่โครงสร้างที่ปลูกฝังมาเสมอเรื่องประชาธิป ไตยตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยจริง หรือไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่จริงหรือไม่ หรือเรามีหน้าที่เพียงเข้าไปในคูหากาบัตรเพียง 3 วินาที

นี่คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังอย่างผิดๆ มาโดยตลอด ประชาธิปไตยที่แท้จริงควรจะเป็นของประชาชน ในรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน คือฉบับ 2540 ที่เหลือเกิดจากผู้มีอำนาจ ในประเทศนี้ ทำรัฐประหารไป 13 ครั้ง นี่คือโครงสร้างอัน บิดเบี้ยวในสังคมจนทำให้ประเทศ ไม่ตรงปก ไม่เป็นประชาธิปไตย

มันเกิดขึ้นเพราะทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือความขัดแย้งครั้งใหญ่ สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น จึงได้เห็นการกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นแล้วยึดอำนาจกันแบบนี้ พอหลังเหตุการณ์เราก็ถูกสอนว่าให้ลืมมันไปแล้วให้อภัย แต่การให้อภัยนี้ต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการเรียนรู้ มิเช่นนั้นเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ตรงปก พยายามบอกว่าผ่านประชามติ มี 13 ล้านเสียงให้ความเห็นชอบ จึงชอบธรรมต้องยึดถือและปฏิบัติ แต่ก็ต้องถามว่าระหว่างการรณรงค์ประชามติได้พบเห็นฝ่ายไม่เห็นต่างออกมาพูดหรือไม่ มีเพียงแต่ฝ่ายสนับสนุนออกมาบอกว่าสมบูรณ์แบบที่สุด นี่คือต้นตอของปัญหา ซึ่งสังคมต้องแก้ไขปัญหานี้

การเลือกตั้งจะมีในวันที่ 24 ก.พ.62 หรือไม่ก็ยังไม่มีใครมั่นใจ แต่มันก็ต้องมีการเลือกตั้งภายใต้กติกาแบบนี้ ซึ่งสังคมก็ต้องช่วยกันเรียกร้องจับตาให้การเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ

แต่นับจนถึงเดือนพ.ย.นี้พรรคการเมืองก็ยังไม่อาจนำเสนอนโยบายให้ประชาชนได้นี่คือความไม่ปกติ บรรยากาศเดินหน้าสู้การเลือกตั้งตามปกติต้องไม่ใช่แบบนี้ นักการเมืองไม่อาจ นำเสนอนโยบาย ประชาชนไม่อาจเสนอความคิดเห็นได้ นักการเมืองยังไม่อาจพบปะประชาชนเพื่อนำความเดือดร้อนสะท้อนออกมาเป็นนโยบาย แล้วให้ประชาชนเลือกได้

ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องปลดล็อกทุกข้อ เพื่อให้การเลือกตั้งเสรีกับพรรคการเมืองและประชาชน ประเทศที่เป็นเผด็จการน่าจะเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์ ท่ามกลางข้อสงสัยของต่างชาติถึงความโปร่งใส

การเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึง วันเลือกตั้ง ไม่ใช่เพียงแค่ 5-10 วัน ทว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ บอกเรื่องนี้ไม่เป็นมงคล นี่จึงเป็นความลักลั่นและไม่ยุติธรรมต่อสังคม

หลังการเลือกตั้งยังเป็นปัญหาใหญ่อีก ประเทศจะกลับไปตรงปกหรือไม่ตามคำโฆษณาของผู้มีอำนาจที่ว่าจะปฏิรูป แต่ยังไม่มีใครเห็นอะไร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือปัญหาที่ไม่อาจทำให้ประเทศตรงปกได้

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกับดักในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้าได้ ซึ่งควรเป็นเรื่องของคนรุ่นนี้ แต่ไม่มีใครได้มีส่วนร่วม มีแต่คนอายุ 60 ปีที่ร่างไว้

หลังการเลือกตั้งอยากเห็นการมีส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ หรือยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพมาร่วมกัน แต่ด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและกลไกรัฐสภาที่กำหนดให้ต้อง มีส.ว.แต่งตั้ง และส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งเห็นด้วยนั้นจะเป็นไปไม่ได้

แต่หากวันหนึ่งสังคมเห็นพ้องต้องกันก็อาจเกิดกระแสแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการใช้ธงเขียวรณรงค์เพื่อให้ประเทศกับมาตรงปก

 

3.วัฒนา เมืองสุข

พรรคเพื่อไทย

อันตรายอย่างยิ่งของประชาธิปไตยคือคน 3 กลุ่มมารวมกัน คือ ทหาร นักวิชาการ และนายทุน เพราะการตรวจสอบไม่เกิด สภาพนี้กำลังเกิดขึ้นในการเมืองไทย

การแก้ไขต้องแก้ที่หลักการ แก้กองทัพที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้ง ต้องนำกองทัพไปสู่ที่ ที่ควรอยู่ผ่านการปฏิรูปกองทัพ กองทัพควรมีหน้าที่ 2 อย่างคือ เตรียมกำลังต่อการใช้กำลังในยามที่อาจมีปัญหา เป็นเหมือนนักดับเพลิง ที่ซ้อมไว้ตลอดแม้ไม่มีไฟไหม้

กองทัพไทยมีกำลังพล 3.4 แสนนาย รวมทหารเกณฑ์ก็ตก 4.5 แสนนาย ทว่ามหาอำนาจอย่างอังกฤษมี 1.5 แสน ฝรั่งเศส 2 แสน รวมกัน 3.5 แสนคน น้อยกว่าเรา 1 แสนคน เมื่อ ดูบริบทปัจจุบันประเทศเราไม่มีการรุกรานแล้ว มีแต่ป้องกัน กำลัง 4.5 แสนคนจึงเป็นส่วนเกิน จึงต้องการลดขนาดกองทัพ ที่ไทยเคยยึดโมเดลมาจากสหรัฐ ที่มีกองทัพน้อยที่ไม่จำเป็นเต็มไปหมด ทว่าไม่มีความจำเป็นในการไปรบแล้ว

อย่างกอ.รมน. ที่ไว้รับมือคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีแล้ว นอกจากไม่ลดกลับถูกขยาย เพราะกองทัพแทรกซึมหน่วยงานอื่นเพื่อแทรกแซงทางการเมือง

ภัยคุกคามจากประเทศรอบบ้านไม่มีแล้ว เรามีแต่มิตรประเทศ อาเซียนก็ต้องการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่จำเป็นต้องซื้ออาวุธในทางรุกราน อย่างรถถังหรือเรือดำน้ำ

คนที่พูดเรื่องยึดอำนาจจะเป็นการมาทำลายความ เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

กำลังพลที่ใหญ่ต้องเลิกเพื่อนำไปสู่ความทันสมัย การรบเต็มรูปแบบไม่มีแล้ว ต้องรับมือกับการก่อการร้ายสมัยใหม่ที่ใช้การก่อวินาศกรรมขนาดเล็ก ต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อให้เลิกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูปคือกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกว่าสองมาตรฐาน ต้องมีการนำตัวคนที่ยึดอำนาจมาขึ้นศาล เรื่องนี้จะเกิดขึ้นแน่นอนหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

คนดีไม่มีอยู่จริงเราต้องจึงสร้างระบบที่ดีในการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน การเลือกตั้งจะเปลี่ยนจากการเคารพตัวบุคคลเป็นเคารพหลักการ กติกาที่จะใช้กับเราทุกคน ต้องเกิดการมีส่วนร่วม

แต่รัฐธรรมนูญเราไม่ได้มีส่วนร่วม จึงต้องนำไปสู่การแก้ไขเพื่อพาประเทศกลับเข้าสู่หลักการอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน