คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ถือว่าหนักสุดในรอบหลายสิบปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเต็มที่

แต่ยังมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลคิดช้าทำช้ากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นักวิชาการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตส.ส. อดีตส.ว. มีความเห็นอย่างไร

นิกร จำนง

สมาชิกสปท. และอดีตผู้แทนราษฎรสงขลา พรรคชาติไทยพัฒนา

ครั้งนี้ฝนตกมากผิดปกติ ทำให้ท่วมไม่ปกติ เกิดความเสียหายหนัก จึงถือเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

กรมอุตุนิยมวิทยายังแจ้งเตือนวันที่ 16-17 ม.ค.นี้ว่าจะมีฝนหนักอีก จึงเหมือนเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภาคใต้ตอนกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี เพราะกว่าจะระบายลงทะเลได้ก็นาน ทำให้เกิดเป็นปัญหาพิเศษ

สิ่งที่เกิดผิดปกติเช่นนี้ เรื่องการเตือนภัย ต้องรัดกุมมากกว่านี้ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนเป็นประจำทุกๆ วัน ทำให้เกิดความเคยชิน เมื่อเกิดเหตุพิเศษควรเตือนให้เป็นพิเศษกว่าเดิม เพราะถ้าเตือนธรรมดาๆ เขาก็ไม่เชื่อ ตรงนี้ก็เป็นปัญหา ไม่รู้จะโทษใคร

ส่วนเสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลนี้คิดช้าทำช้ากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ในความเป็นจริงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีส.ส.อยู่ในพื้นที่ มีกลไกอยู่ทุกแห่งที่คอยร้องแทนประชาชน พอเกิดเหตุปั๊บจึงเกิดการตอบสนองที่รวดเร็วมาก

แต่พอเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กว่าที่หน่วยจะรายงานขึ้นมาส่วนบน กว่าจะตัดสินใจ กว่าจะเข้าระบบ จึงช้ากว่า ถ้ารัฐบาลที่ไม่มีตัวแทนประชาชนก็เป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด นี่เป็นปัญหาในเชิงระบบ ไม่ได้เป็นความผิดของใคร

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวได้บทศึกษาของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) และจัดทำรายงานเรื่องการจัดการภัยพิบัติตามธรรมชาติภาวะโลกร้อนเสนอไปยังประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปท. เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นสวัสดิการสังคมที่สำคัญ

ในเมื่อทำให้โลกหายร้อนไม่ได้ แต่เราป้องกันและเตรียมการลดความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติตามธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ คือ สภาวะโลกร้อนได้ โดยควรนำมาทำเป็นประเด็นปฏิรูปด้านสังคม เพื่อเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง นำข้อศึกษาดังกล่าวมาต่อยอด

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดที่แล้ว เน้นที่การบริหารการใช้น้ำในเขื่อนภาคกลาง การจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคใต้ถึงมีก็คงไม่ละเอียด และคงแก้ไม่ได้ เพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ

ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล

อาจารย์ประจำภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นเหตุฉุกเฉิน เป็นเหตุซึ่งหน้า ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้และถือเป็นความผิดปกติของร่องมรสุมฝั่งอันดามันที่พัดผ่านภาคใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกระแสลมตะวันตก ทำให้เมฆฝนกระจุกตัวอยู่ในแถบจังหวัดภาคใต้ ไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ไปจนถึงสุราษฎร์ธานี ทำให้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้

โดยปกติแล้วในช่วงนี้ภาคใต้เป็นช่วงฤดูมรสุม ซึ่งคาบ เกี่ยวมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นระยะ เวลายาวนานกว่าปกติ ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นและตก หนักขึ้น

มิหนำซ้ำร่องมรสุมก็ไม่ได้พัดพาเมฆฝนออกไปจากพื้นที่ไปยังภาคกลาง ซึ่งถ้าปกติแล้วในช่วงนี้ร่องมรสุมจะพัดพากลุ่มเมฆฝนออกจากพื้นที่ภาคใต้ไปแล้ว ทำให้ปริมาณฝนลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความผิดปกติของธรรมชาติ

ส่วนตัวไม่ได้คิดเข้าข้างรัฐบาลนี้แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย ทั้งความผิดปกติของธรรมชาติและการวางพื้นที่ผังเมืองและระบบ การระบายน้ำ ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที เมื่อเกิดเหตุฝนตกหนักซ้ำซาก จึงทำให้น้ำท่วมขังอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ระบบการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ ที่อุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านเรายังมีปัญหาและไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล ทำให้ขาดความแม่นยำในการคาดคะเนและไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยทางธรรมชาติได้อย่างชัดเจนและแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น ดาวเทียมติดตามสภาพภูมิอากาศ โดยปกติแล้วดาวเทียมจะหมุนตามประเทศนั้นๆ ทำให้สามารถติดตามวัดผลสภาพภูมิอากาศในแต่ละประเทศได้ในทุกๆ วินาที แต่ดาวเทียมบ้านเราจะหมุนตามประเทศเพียง 14 วันต่อหนึ่งครั้ง แน่นอนว่าความแม่นยำในการคาดคะเนต้องคลาดเคลื่อนไปถึง 14 วัน

การแก้ไขปัญหาของระบบการแจ้งเตือนคือ ต้องยกระบบใหม่ทั้งหมด ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ต้องมีการลงทุนอีกมากเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายควรนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

รัฐบาลต้องมีการตื่นตัวและเตรียมการรับมืออย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากต่อเนื่อง

จากสถิติที่มีการเก็บข้อมูลมาในตลอดช่วง 10 ปีหลังพบว่าปัญหาภัยพิบัติมีความรุนแรงมากขึ้น 2-3 เท่าตัว

ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดหาวิธีการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะอย่างที่บอกไว้ประชาชนต้องมาก่อนเสมอ

สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ

อดีตส.ว.ตรัง

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงผู้นำท้องถิ่น ได้แจ้งเตือนประชาชนเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ที่ดู ว่ารุนแรง และเหมือนว่าประชาชนเตรียมการไม่ทัน สาเหตุหนึ่งเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคใต้ถูกพายุฝนตกหนักไปแล้ว แล้วมาเจอช่วงต้นปีอีก อีกทั้งเป็นช่วงวันหยุด บางคนไม่อยู่บ้านกว่าจะกลับมาก็ไม่ทันแล้ว แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแจ้งเตือนแล้วก็ตาม

ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลคิดช้า แก้ไขปัญหาช้ากว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คิดว่าไม่เกี่ยวกันเลย จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามทำงานอย่าง เต็มที่ เมื่อเกิดปัญหาก็พยายามช่วยเหลือประชาชน

แต่ที่เป็นข้อเสียกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง คงมองไปที่เรื่องภายใน ท้องถิ่น ที่หากเป็นส.ส.หรือส.ว. จะอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว จะมีความรวดเร็ว เรื่องการข่าวในพื้นที่ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับชาวบ้านที่ชาวบ้านจะกล้าบอกให้มาช่วย แต่พอไม่มีส.ส.และส.ว. เหมือนว่าชาวบ้านกับภาคการเมืองอยู่ห่างไปกันนิดหน่อย

ขณะที่อื่นๆ มองว่าไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะทุกหน่วยงานก็ทำงาน เต็มที่ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าภัยพิบัติแล้ว รัฐบาลและหน่วยงาน ราชการต่างๆ พยายามช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ประสบภัย และภาคเอกชนก็ช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งยังเป็นมุมที่น่ายินดีที่เมื่อเกิดปัญหาแล้วคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

ยกตัวอย่างในพื้นที่ จ.ตรัง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ซึ่งน้ำไหลมาจาก จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่อีกส่วนไหลมาจาก จ.พัทลุง และแม้ว่า จ.ตรัง จะได้รับผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับหลายจังหวัดทางภาคใต้ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ออกพื้นที่เพื่อดูแลประชาชนเต็มที่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขอเสนอแนะให้รัฐบาลมองภาพรวมในแต่ละจังหวัด ว่ามีจุดอ่อนหรือจุดที่ทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติอะไรบ้าง

เพื่อวางแผนแก้ไขทั้งระบบไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตอีก

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ

อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า อุทกภัยในภาคใต้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เมื่อเทียบกับปี 2518 เนื่องจากสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มวลน้ำมาเร็วทำให้เกิดความเสียหายกระจายไปทั่ว แม้ว่าจะมีการประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ก็ตาม

การเตรียมรับมือก็ได้เตรียมพร้อมไว้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะทหาร แต่พื้นที่ประสบภัยกระจายกว้างขวางและรุนแรง การเข้าไปช่วยเหลือทันท่วงทีอาจจะช้าในหลายพื้นที่ เหตุเพราะเครือข่ายการทำงานของรัฐบาล คสช.อาจจะพึ่งเฉพาะสายข่าวของราชการอย่างเดียว

แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีสายข่าวไม่ว่าจะเป็นหัวคะแนนสาขาพรรค หรือประชาชน ซึ่งจะเห็นว่าแตกต่างกันชัดเจน แต่ครั้งนี้การช่วยเหลือของรัฐบาล ประชาชนก็พึ่งพอใจในระดับหนึ่ง

สิ่งที่อยากเสนอแนะคือ 1.มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเฉพาะหน่วยงานทหารกับกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระทรวงอื่นที่ควรจะช่วยเต็มที่เหมือนกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ยัง ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งที่ในพื้นที่ น้ำท่วม มีโรงเรียนได้รับความเสียหาย และนักเรียนได้รับผลกระทบจำนวนมาก อยากให้ตั้งงบประมาณฉุกเฉินเข้าไปช่วย รวมถึงวัดต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายด้วย

2.เข้าใจว่ารัฐบาลทหารจะทำงานเชิงยุทธศาสตร์ แต่พื้นที่มีความหนักเบาไม่เท่ากัน บางพื้นที่บ้านเสียหายทั้งหลัง 40 หลัง เสียหายค่อนข้างมากอีกจำนวนหนึ่ง แต่กระบวนการแก้ปัญหายังอาศัยกลไกของระบบราชการตามปกติ

จึงอยากเสนอให้รัฐบาลถอดบทเรียนจากน้ำท่วมซุงถล่มที่หมู่บ้านกะทูน อ.พิปูน และหมู่บ้านคีรีวงศ์ อ.ลานสกา เพราะจะต้องเข้าไปจัดการบริหารเบื้องต้นอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

2.1 การแก้ไขความเป็นอยู่ของปะชาชนที่มาอยู่ในศูนย์พักพิง มีปัญหาเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพอนามัย เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกัน ควรจะมี ปลัดอำเภอส่วนหนึ่งเข้ามาดูแลร่วมกับท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหา ต้องใช้เวลาในช่วงแรกกว่า 4 เดือนถึงจะออกจากที่พักพิงได้

2.2 เนื่องจากบ้านพังไปทั้งหลัง จึงควรจัดชุมชนใหม่ให้ประชาชน โดยเฉพาะ 40 ครัวเรือน โดยภาครัฐ เอกชน เข้ามาช่วย

และ 2.3 ความเสียหายจากโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ประปา ให้รัฐบาลใช้เงินสำรองจ่ายฉุกเฉินตามอำนาจนายกฯ มาแก้ไขปัญหา

3.การแก้ไขปัญหาระยะยาว เนื่องจากกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การที่นายกฯ บอกว่าทราบดี แสดงว่ามีข้อมูลระดับหนึ่ง จึงอยากให้แก้จริงๆ เช่น ชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช น้ำจากเขาหลวงไหลท่วมทุกปี ควรถอดบทเรียนหาดใหญ่ที่มีโครงการพระราชดำริ ที่เวลานี้น้ำ ไม่ท่วมแล้ว รวมทั้งศึกษาแก้ปัญหาให้น้ำไหลออกนอกเมือง

สำหรับระบบเตือนภัยนั้น ที่ จ.นครศรีธรรมราชได้รับความชื่นชม เพราะประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้น มีการตั้งกลุ่มไลน์รายงานความเคลื่อนไหวของประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ และตามท้องถิ่นในโซนภูเขา มีรถกระจายเสียงเคลื่อนที่เตือนอยู่แล้ว

ส่วนภาพรวมการเตือนภัยในภาคใต้นั้น อยากเห็นการทำแบบวันสต๊อปเซอร์วิส ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานที่เกี่ยวกับดินถล่ม ชลประทานเกี่ยวกับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมศูนย์เดียว เนื่องจากเขตภูเขากินพื้นที่หลายอำเภอ หน่วยงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคงไม่พอ เพราะน้ำมาเร็วชาวบ้านขนของไม่ทัน

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้นั้น สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไป คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะประชาชนไม่รู้ว่าแผนจะเป็นอย่างไร กระทบความเป็นอยู่หรือไม่

รัฐบาลนี้ควรหยิบยกมาทำต่อ แต่ไม่ใช่เอาตามเดิม ควรดูบริบทด้วย แล้วมาลงทุนให้เหมาะสม โดยป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง สร้างธรรมชาติวิทยา ดูแลแหล่งหากินที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู ปลา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน