ปฏิทินเลือกตั้ง : บทบรรณาธิการ

ปฏิทินเลือกตั้ง – ความไม่มั่นใจของสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรคว่า การเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจในอนาคตด้วยตนเองนั้น จะเกิดขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จริงหรือไม่ ดูจะไม่ใช่เรื่องวิตกกังวลเกินเหตุ

เพราะก่อนหน้านี้ไม่เพียงมีการเลื่อนช่วงเวลาการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วหลายครั้ง แต่การปลดล็อกจริงทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้น

แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะแถลงปฏิทินการเลือกตั้งออกมาแล้ว แต่เนื้อหาไม่ได้ใหม่จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยแจ้งมาก่อน

ในที่นี้รวมถึงข้อสรุปว่า หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคม 2561 จะเริ่มนับกำหนดเวลาจัดเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จภายใน 150 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ระยะเวลาจัดการเลือกตั้งยังมีโอกาสทอดยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม

เพียงแต่ที่ผ่านมา กกต.เสนอความเห็นไปว่าช่วงเวลาเหมาะสมคือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนการปลดล็อกพรรคการเมือง กลับขยับเลื่อนออกไปเป็นช่วง 5 วันหลังจากมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ส.แล้ว รวมถึงกำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศเขตเลือกตั้ง และจำนวนส.ส.แต่ละเขต

พร้อมกับการที่รัฐบาลและคสช.ระบุว่าพรรค การเมืองจะมีเวลารณรงค์หาเสียง 60 วัน เพียงพอแล้วและมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งที่ช่วงเวลา 60 วันดังกล่าวนั้น ไม่สมเหตุสมผลกับการเกิดรัฐประหาร อันเป็นช่วงเวลาการหยุดชะงักทางประชาธิปไตยมายาวนานหลายปี

ขณะนี้รายละเอียดในเรื่องประกาศวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. การแจ้งชื่อผู้ที่จะเข้ารับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีให้กกต. รับทราบ หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่มาก่อนการปลดล็อก

ในเมื่อการปลดล็อกทางการเมือง เป็นขั้นตอนที่จับต้องได้และแสดงความจริงใจและจริงจังได้มากกว่าการแจกแจงปฏิทินการเลือกตั้ง

ส่วนการยุติการใช้อำนาจพิเศษ มาตรา 44 จะเป็นสิ่งที่จะย้ำว่าประเทศไทยพร้อมจะคืนสู่การใช้กฎหมายและหลักนิติรัฐตามปกติ

เหล่านี้จึงสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน