คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เป็นแนวทางปรองดองอีกสูตรหนึ่ง สำหรับข้อเสนอของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ชุดของนายเสรี สุวรรณภานนท์

กับการเสนอแยกคดีประชาชนทั่วไปกับแกนนำ แบ่งเป็นคดีร้ายแรงกับไม่ร้ายแรง

แล้วให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ร้ายแรงของประชาชนทั่วไป และพักโทษแกนนำที่ยอมรับผิด

มีมุมมองจากบรรดานักการเมืองต่อข้อเสนอนี้

1.วรชัย เหมะ

แกนนำเสื้อแดง สมุทรปราการ

ข้อเสนอของสปท.การเมืองคือการเสนอพ.ร.บ. พักโทษเพื่อสร้างความปรองดอง โดยให้ศาลพักคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม การก่อการร้าย กบฏ แต่ไม่รวมคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และคดีที่มีผู้เสียชีวิต คดีทุจริตคอร์รัปชั่น

โดยหลักการผมเห็นด้วยกับการปรองดองแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบางอย่าง เช่น ต้องยอมรับก่อนว่าทำผิด ถ้าคนที่ไม่ได้ทำผิดไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแล้วจะให้ยอมรับได้อย่างไร หากจะปรองดองควรพูดเป็น รายคดีไปเลยว่าคดีก่อการร้าย กบฏ ต้องมีการรับโทษอย่างไร หรือจะนิรโทษกรรมทั้งหมด ไม่ใช่ให้ยอมรับว่าทำผิดจึงจะได้รับการพักโทษ

สูตรของสปท.ต้องปรับแก้ว่าหากคนที่ไม่ได้ทำผิดจะทำอย่างไรและควรตั้งโจทย์กำหนดเป็นรายคดีว่าเรื่องใดที่อยู่ในข่ายพิจารณาบ้าง เช่น คดีก่อการร้าย ยึดศาลากลางจังหวัด บุกทำเนียบ ปิดสนามบิน เพราะคดีที่ยังเหลือเป็นปัญหาค้างอยู่ก็คือคดีเหล่านี้

แนวทางปรองดองคือการเรียกทุกกลุ่มมาคุยกันว่าต่อไปการเลือกตั้งหรือมีกิจกรรมทางการเมืองต้องเคารพกติกา ส่วนเรื่องที่แล้วมาให้สิ้นสุดกันตรงนี้ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้ากันได้

เหมือนในอดีตที่จะปรองดองก็มีการนิรโทษกรรม โดยยึดหลักการที่เป็นธรรมไม่ใช่บังคับให้ยอมรับกับศาลว่าผิดก่อน เพราะจะเป็นตราบาปกับประชาชนไปทั้งชีวิต ส่วนคนที่อยู่ในต่างประเทศหรือที่มีคดีติดตัวต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้บุคคลเหล่านี้มีมลทินติดตัว

ซึ่งแนวทางของสปท.นั้นต่างจากนิรโทษกรรมที่ระบุให้ต้องยอมรับผิดก่อน ทั้งที่การจะนิรโทษกรรมคือการล้างไพ่โดยไม่ต้องไปบอกว่าใครผิดหรือมีคดีติดตัวอีก

แนวทางเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา และตั้งโจทย์ว่าเรื่องใดควรนิรโทษกรรม เช่น คดีใดที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองควรได้รับโอกาสในการประกันตัว

การแยกคดีของประชาชนออกจากแกนนำ แบ่งเป็นคดีร้ายแรงและไม่ร้ายแรงโดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาจำหน่ายคดีนั้น คดีบุกสนามบิน สถานที่ราชการ ที่สาธารณะและก่อการร้าย ที่มีความผิดจำคุกไม่เกิน 10 ปี นิรโทษกรรมให้หมด ถ้าจะมีการพักโทษหรือนิรโทษกรรมต้องครอบคลุมทั้งหมด

สถานการณ์ขณะนี้ต้องมีการพูดคุยเริ่มต้นได้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าปล่อยให้มีความขัดแย้งอยู่อย่างนี้ประเทศก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้

2.สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

เรื่องการจำหน่ายคดีตามหลักก็ควรเป็นเช่นนั้น ระหว่างผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยเจตนาที่บริสุทธิ์กับกลุ่มแกนนำควรต้องแยกขาดจากกัน เหวี่ยงแหไม่ได้ เป็นสิทธิที่คุ้มครองผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อยู่แล้ว และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นที่ให้สิทธิกับเขา คงไม่ยากที่จะไปดูว่าใครเป็นแกนนำ ใครเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม

ส่วนข้อเสนอให้รับผิดก่อนลงโทษสถานเบานั้น หากถามให้รับผิดก็คงไม่มีใครรับผิดเพราะในกฎหมายเขียนระบุอยู่แล้วว่าลักษณะใดที่เป็นการกระทำผิด ผู้ก่อการจะต้องรับโทษอย่างไร ผู้ร่วมชุมนุมจะต้องโดนอะไร มีความชัดเจนอยู่ในตัวกฎหมายอยู่แล้ว

ส่วนการจำแนกคดีไม่ร้ายแรง การบุกรุกสถานที่ราชการ หรือสนามบิน ที่สาธารณะ ต้องเข้าใจว่าบางคนเขาต้องการเข้าไป ฟังการปราศรัยและคำว่าบุกหากหมายถึงการเข้าไปในสถานที่หวงห้าม มีเจตนาจะเข้าไปเพื่อทำลาย หรือเพื่อไม่หวังดีต่อบ้านเมืองทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้

เช่น เข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปนั่งฟังปราศรัยแต่ไม่ได้บุก ขึ้นไปเพื่อเข้าไปครองหรือทำลายทรัพย์สิน อย่างนี้สามารถแยกได้ชัดเจน ส่วนคนที่โดนคดีเผาสถานที่ราชการนั้นก็ชัดเจนว่าทำลายทรัพย์สินของทางราชการ อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องให้เขาสารภาพเพราะกฎหมายเขียนอยู่แล้ว

แนวทางที่สปท.เสนอต่างจากการนิรโทษกรรมแน่นอน เพราะคำว่านิรโทษกรรมหมายถึงทุกอย่างจบกระบวนการไปแล้วมานิรโทษกรรม แต่ไม่ใช่ว่าคดียังกึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนี้ ควรทำให้จบกระบวนการและวินิจฉัยมาเลย ศาลตัดสินอย่างไรก็ว่าไปตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนโอกาสที่จะนำไปสู่ความปรองดองนั้น การทำตามข้อเสนอนี้อย่างเดียวไม่รู้ว่ามันจะใช่หรือเปล่า อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะทั้งหมดนั้นต้องพูดคุยกัน นำผู้ที่มีความขัดแย้งทั้งหลายมาพูดคุยกันว่าพอหรือยัง จบได้หรือยัง

ไม่ใช่หายไปกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ยกเลิกกันหมดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งยังคงต้องคลางแคลงใจ ทำให้เหมือนๆกันต่างคนต่างผิดแล้วมานิรโทษกรรม ไม่ใช่มาปล่อยข่าวว่าเรื่องที่คาอยู่แล้วยกเลิกให้หมด ยกเลิกกันไปอย่างนี้ไม่ได้ เสียหลักการปกครองประเทศ

3.ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ

รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ปี 2553 พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอร่างกฎหมายที่เรียกว่าร่างพ.ร.บ.ล้างมลทินมาแล้ว แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้

ล่าสุดกรรมาธิการของสปท.หยิบยกเรื่องการสร้างความปรองดองมานำเสนออีกครั้ง ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าออกเป็นกฎหมายและทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ร่วมชุมนุม โดยไม่ใช่แกนนำ หรือผู้ที่ทำลายทรัพย์สินทางราชการ

แต่ห่วงเรื่องการแยกแยะว่าใครที่ไปชุมนุมเฉยๆ กับผู้ที่ไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการนั้นจะแยกแยะกันด้วยวิธีใด

ผู้เสนอกฎหมายต้องทำให้เห็นได้ว่าจะแยกตรงนี้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะเข้าไปก้าวล่วงเรื่องของศาลหรือไม่ซึ่งคงเป็น กระบวนการของศาล

แต่ถ้านาย ก. นาย ข. ไปร่วมชุมนุมโดยสันติ หากพิสูจน์ได้ก็ดี เพราะเกิดประโยชน์กับประชาชนทั่วไปด้วยเนื่องจากคนเหล่านี้ถ้าต้องถูกจองจำก็จะเสียอนาคต ส่งผลกระทบทั้งต่อ ตัวเองและครอบครัว หากทำแล้วเกิดประโยชน์เรื่องการสร้างความสามัคคีปรองดองก็เห็นด้วย

ส่วนกรณีแกนนำยอมรับว่ากระทำผิดให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น เท่ากับบังคับให้ยอมรับผิดหรือไม่นั้น

ปัญหาคือจะมีใครไปยอมรับหรือไม่เพราะไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะได้บรรเทาโทษ อีกทั้งการบรรเทาโทษจะทำกันขนาดไหนจึงต้องดูให้ละเอียด ที่สำคัญคือการลดโทษต้องเป็นอำนาจของศาล

ไม่ว่าใครเสนอการสร้างความปรองดองถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งนั้น บรรยากาศของบ้านเมืองขณะนี้ก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ชาวบ้านเริ่มมีความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้น และตราบใดที่ไม่มีการปลุกระดมมวลชนทุกอย่างก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

4.วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

ความคิดเรื่องปรองดองเป็นสิ่งที่ดีควรสนับสนุนแต่ต้องดูต้นตอของปัญหาที่แท้จริงว่าปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงมาจากอะไร จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการพูดคุยในวงกว้างทุกมุมทุกประเด็นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมายและเรื่องการทำมาหากิน ทั้งรายได้ อาชีพและความยุติธรรมที่จะได้รับจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน

การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เห็นด้วยกับเรื่องปรองดองและไม่ควรพูดถึงนิรโทษกรรมจึงมีนัยที่น่ารับฟัง

ส่วนข้อเสนอของสปท.ด้านการเมืองเรื่องการแยกหรือจำแนกความผิดรุนแรงและไม่รุนแรงนั้น ความจริงแล้วประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งต้องทำให้เขาเหล่านั้นทันที

ส่วนความผิดมาตรา 112 ผิดอาญาร้ายแรง ผิดฐานทุจริต หรือแกนนำควรจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งก็มีศาลพิเศษคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา เมื่อศาลพิพากษาอย่างไรทุกคนต้องยอมรับและกระบวนการนิรโทษกรรมถัดมาจึงสามารถดำเนินการได้

โอกาสที่แนวทางนี้จะนำไปสู่การปรองดองได้หรือไม่นั้น จะเห็นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกสำเร็จได้โดยการเจรจา ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่แค่ไหนเพียงใดอยู่ที่สภาพของปัญหานั้น

ในส่วนของประเทศไทยที่พูดภาษาเดียวกันทั้งประเทศ มีวัฒนธรรมเหมือนกัน แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดเพราะมนุษย์สร้างขึ้นจนเกิดวาทกรรมเกลียดชังกัน ดังนั้นหากไม่มีคนสร้างความเกลียดชัง ไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่าสามารถแก้ความขัดแย้งและนำไปสู่การปรองดองได้ในไม่ช้า

โอกาสที่นำไปสู่ความปรองดองคือต้องรับฟังทุกฝ่ายด้วยความตั้งใจ และทุกฝ่ายมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาร่วมกันโดยเอาประเทศชาติบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดความปรองดองได้

5.พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

หลักคิดการสร้างความปรองดองต้องเริ่มต้นจากการยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อให้คู่ขัดแย้งทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเกิดความรู้สึกยอมรับร่วมกันว่ากระบวนการดังกล่าวมีความเป็นธรรม นำไปสู่การพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมตรงกัน

ต้องทำให้การอำนวยความสะดวกของกระบวน การยุติธรรมชั้นต้นจากตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ ได้รับการยอมรับ ทว่าสภาพปัจจุบันการเดินหน้าสร้างความปรองดองไม่ได้เกิดจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ความรู้สึกของคู่ขัดแย้งฟากหนึ่งยังคงคลางแคลงใจ

โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่่ติดใจในกระบวนการว่าเป็นปัญหา เนื่องจากผู้มาทำหน้าหน้าที่วินิจฉัยตรวจสอบพวกเขาก็เป็นคู่ขัดแย้งอีกฟากหนึ่ง

ข้อเสนอของ สปท.ที่อยากให้แยกผู้กระทำผิดเป็นฝ่ายมวลชนกับฝ่ายแกนนำ แล้วใช้กลไกทางกฎหมายพิจารณาจำหน่ายคดีไม่ร้ายแรง เพื่อให้มวลชนที่ติดคดีด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมืองพ้นผิดก่อนนั้น เป็นการเริ่มกระบวนการปรองดองตรงกลางทาง

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกลับไปหากระบวนการต้นทาง หรือพิสูจน์ให้ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าทุกฝ่ายต่างยอมรับในกระบวนการที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐนิติธรรมแล้ว

อุปสรรคสำคัญในการผลักดันการปรองดองของสปท. คือ สถานะของสปท.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. หนทางที่ผลักดันเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อได้จำเป็นต้องเปิดเวทีพูดคุยกัน

ให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันหาข้อเท็จจริงร่วมกัน ยอมรับใครผิด ใครคือปัญหาส่วนไหน ต้องเจอโทษอะไร

จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการปลายทาง การนำกลไกทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความปรองดอง โดยยึดหลักเมตตาธรรมที่ทำได้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ การนิรโทษกรรม การออกฎหมายล้างมลทิน

หากกระบวนการของสปท.กลับไปเริ่มต้นจากหลักการที่ถูกต้อง ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลสรุปสุดท้าย ความปรองดองในสังคมไทยจะประสบผลสำเร็จ

ที่สำคัญที่สุดคือองค์ประกอบของเวทีการพูดคุยต้องเปิดกว้างให้สาธารณชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้ความปรองดองของเรายั่งยืนและได้รับการยอมรับในระดับสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน