การบริหารจัดการ “ตัวแปร” เดินหน้ารวดเร็ว

หลังจากวันที่ 10 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เปิดเผยถึง กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านองคมนตรีและสำนักราชเลขาธิการ

เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในหมวดพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องมีการแก้ไข 3-4 รายการ ให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ

จากนั้นวันที่ 13 ม.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เรียกนัดประชุมสมาชิกเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ตามที่ครม.และคสช.เสนอ

ใน 2 ประเด็นสำคัญ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เป็นตัวแทนรัฐบาลชี้แจงต่อ สนช.

ประเด็นแรก การเพิ่มข้อความใหม่ในวรรคสามของมาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี

ประเด็นที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯถวาย กลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

ที่ประชุมสนช.ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที ในการพิจารณาผ่าน 3 วาระรวด ด้วยมติเห็นชอบ 228 ต่อ 0 เสียง ให้การแก้ไขดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาภายใน 30 วัน เพื่อนำมาปรับแก้ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน

ในการยกร่างแก้ไข รัฐบาลตั้งคณะกรรมการพิเศษ 1 ชุด ประกอบด้วยกรรมการกฤษฎีกา 10 คน

ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการครม. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์ บริภาร อัยการสูงสุด และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ การแก้ไขจะเฉพาะมาตรา และเป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ไม่มีการฉวยโอกาสแตะต้องยุ่งเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ เด็ดขาด

คาดว่าดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน

 

มีคำถามตามมาว่า การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติครั้งนี้ มีผลกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งที่แต่เดิมกำหนดไว้ในปลายปี 2560 หรือไม่ อย่างไร

คำตอบคืออาจมีการขยับออกไปบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นยอมรับกันไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ จะปลดล็อกพรรคการเมือง ให้เริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้งได้ หลัง 2 พระราชพิธีสำคัญสำหรับคนไทยผ่านพ้นไปแล้ว คือ พระราชพิธีพระบรมศพและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และได้รัฐบาลชุดใหม่ในปี 2561

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม กล่าวย้ำ 5 ขั้นตอนโรดแม็ปเลือกตั้ง

1.การถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน ก่อนพระราชทานเพื่อประกาศใช้ 2.กรธ.จัดทำร่างกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนดภายใน 240 วัน

3.ส่งร่างกฎหมายลูกให้สนช.พิจารณาภายใน 60 วัน 4.นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน เมื่อพระราชทานลงมาแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 5 เข้าสู่การเลือกตั้งใน 150 วัน

นับตามปฏิทินที่นายวิษณุแจกแจง หากแต่ละขั้นตอนใช้เวลาเต็มเพดานตามที่ว่า ก็ต้องรอไปอีก 22 เดือน หรือเกือบ 2 ปีกว่าจะได้เห็นการเลือกตั้ง

แต่ในความเป็นจริง ทุกขั้นตอนสามารถเร่งสปีดรวบรัดให้เร็วกว่านั้นได้แบบครึ่งต่อครึ่ง

สำหรับจุดหมายปลายทางการเลือกตั้ง ที่อย่างไรก็จะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาระหว่างช่วง 2 พระราชพิธีสำคัญ และถึงยังพูดได้ไม่ชัดว่าวัน ว. เวลา น. คือเมื่อใด

จะมีก็แต่สัญญาณที่พล.อ.ประยุทธ์ส่งผ่านไปถึงสมาชิกเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ให้ใช้คำพูดอย่างเดียวกัน

“ทุกอย่างยังอยู่ในโรดแม็ปเดิม”

 

เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่านับจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปีถึงจะมีเลือกตั้ง

ระหว่างนี้สถานการณ์การเมืองดูเหมือนสงบนิ่ง และยังมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญญาณบวก จากกรณีรัฐบาลเริ่มเดินหน้าแนวทางปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองในชาติอย่างจริงจัง

ด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ชื่อย่อสั้นๆ ว่า “ป.ย.ป.”

โดยพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

ในชุดใหญ่ยังแบ่งเป็น 4 ชุดย่อย คือ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

ที่น่าจับตาคือในส่วนคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง นายกฯ มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นหัวหน้าทีม

เพื่อผลักดันความปรองดองในชาติเกิดขึ้นให้ได้ก่อนเลือกตั้ง แม้จะถูกฝ่ายการเมืองค่อนแคะว่าผ่านการรัฐประหารมาร่วม 3 ปี ทำไมเพิ่งจะเริ่ม

แต่หลายคนก็ช่วยแก้ต่างให้ว่า ถึงมาช้า ยังดีกว่าไม่มา

สอดรับกับจังหวะของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. 1 ในแม่น้ำ 5 สาย เตรียมเสนอแผนแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ต่อที่ประชุมสปท.เร็วๆ นี้

สาระสำคัญเสนอให้จำหน่ายคดี หรือพักโทษ คดีที่มีความผิดไม่ร้ายแรง ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองทุกขั้วสี ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึง 22 พ.ค.2557

ส่วนผู้กระทำผิดหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จะเปิดโอกาสให้กลับมาสู้คดี โดยได้รับสิทธิประกันตัว

ขณะเดียวกันแม่น้ำสาย สนช.ก็เริ่มขยับ คณะกรรมาธิการการเมืองที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ยกร่างพ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง 22 ต.ค.2557

ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงสถานการณ์บ้านเมืองกับนายกฯ โดยตรง

“อยากให้ทุกคนมีความรัก ความสามัคคีและอยู่ในความสงบ ทำให้บ้านเมืองมีความปลอดภัย ยั่งยืน เป็นที่เชื่อมั่นของนานาชาติ ขอให้ทุกคนมีความรักสามัคคี”

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับใส่เกล้าฯ มาดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ การสร้างความปรองดองในชาติถือเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญในช่วงโรดแม็ปปีสุดท้ายของรัฐบาลและคสช.

เพราะหากตีโจทย์ไม่แตก ไม่สามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ไม่ว่าการเลือกตั้งจะช้าหรือเร็ว ประเทศชาติก็จะหลุดพ้นจากวงจรความขัดแย้งแตกแยกไปไม่ได้อยู่ดี

และอาจหนักหน่วงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน