คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในวันครู ทุกคนคงจะมีครูที่นึกถึง ทั้งในความทรงจำที่ดีและอาจมีที่ไม่ดี

เนื่องจากครูก็เป็นอาชีพที่มีบุคคลหลากหลายเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เพียงแต่ถูกคาดหวังมากทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมจริยธรรม

โดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึงเรื่องปฏิรูป ไปจนถึงการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ครูถูกคาดหวังเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อจะสร้างบุคลากรหรือยกระดับบุคลากรในด้านต่างๆ ออกมารองรับสังคม

ทั้งที่ความคาดหวังนั้นแทบจะตั้งต้นไม่ได้ หากไม่มีการลงทุนให้ครูอย่างจริงจัง

จากข้อมูลของรัฐ ครูมีหนี้เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย โดยเป็นหนี้กับธนาคารออมสินประมาณ 4 แสนราย

ส่วนข้อมูลสำรวจที่เผยแพร่ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ครูที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต มีประมาณ 30,000 คน มีหนี้เฉลี่ยคนละ 2-3 ล้านบาท

กรณีเหล่านี้สะท้อนว่า การที่ครูต้องดำรงชีวิตในความเสี่ยงและดิ้นรนเช่นนี้ ยากที่จะทำหน้าที่รองรับความคาดหวังต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น นอกเหนือจากมาตรการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ยังจำเป็นต้องมีแผนส่งเสริมอาชีพครูอย่างเป็นระบบ

การตั้งแผนงานหรือมาตรการส่งเสริมบุคลากรในอาชีพครู จะมาจากการคิดของคณะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ และมีสูตรใดสูตรหนึ่งตายตัวไม่ได้

เนื่องจากครูเป็นอาชีพที่ครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก แต่ละกลุ่มและแต่ละพื้นที่เผชิญอุปสรรค และต้องการการส่งเสริมที่ต่างกัน

การพัฒนาและลงทุนให้แก่ครูจึงต้องการระบบที่เป็นประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจ ให้สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอความเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้กระบวนการพัฒนาและปรับปรุงเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงจุด

ไม่เช่นนั้นครูจะติดกับอยู่ที่เดิม พร้อมถูกพอกพูนด้วยความคาดหวังมากมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน