ข้อเสนอ 4 ข้อในเรื่อง “การปรองดอง” ของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สำคัญ
(1) สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง
(2) ค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งให้ตกผลึกจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
(3) สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับ
(4) กฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาทางการเมืองที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความปรองดองต้องไม่ให้เกิดคำถาม หรือความรู้สึกว่าเอื้อ ประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สำคัญเพราะถือว่า “เสนอ” ออกมาอย่างเปี่ยมด้วย “วุฒิภาวะ” ทางการเมือง
ถือได้ว่าเป็น “แนวทาง” หรือ “หลักการ” ทั่วไป
“น้ำเสียง” อันสะท้อนออกผ่านข้อเสนอ 4 ข้อโดย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จึงมีลักษณะ “สร้างสรรค์”
เมื่อ “สร้างสรรค์” ก็ย่อม “เป็นคุณ”

ต้องยอมรับภายในกระบวนการปรองดอง สมานฉันท์ ย่อมจะปรากฎ “ตัวแสดง” 2 ตัวออกมาเสมอ
1 ผู้ร้าย 1 พระเอก
แนวโน้มที่จะสัมผัสได้อย่างแน่นอน คือ แต่ละฝ่ายล้วนพยายามแสดงบทบาท “พระเอก”
ในอีกด้านจึงเท่ากับถอยออกจากการเป็น “ผู้ร้าย”
ความสำคัญจึงอยู่ที่คนซึ่งออกมาแบกรับในเรื่องนี้ว่าจะกำหนดและจัดวาง “บทบาท”ของตัวเองอย่างไร
นั่นก็คือ ต้องอยู่เหนือ “ความขัดแย้ง”
นั่นก็คือ จะต้องไม่ถลำลงไปในการแย่งชิงบทบาทไม่ว่าจะเป็น “พระเอก” ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ร้าย”
นั่นก็คือ จะต้องเป็น “กรรมการ”

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ความพยายามที่จะนำไปสู่การปรองดอง สมานฉันท์ จึงล้มเหลว
ไม่ว่าจะโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา
ไม่ว่าจะโดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
ยิ่งกว่านั้น รัฐประหารจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มีเป้าหมายว่าต้องการลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง สมานฉันท์
แล้วทำไมความพยายามที่ประกาศจึงกลายเป็น “ความล้มเหลว”
กระทั่ง “ภาระ”นี้ตกอยู่บนบ่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
มีความจำเป็นต้องย้อนหวนทวนสรุปว่า “ความล้มเหลว”ที่เกิดในอดีตคืออะไร
“ข้อเสนอ” ของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จึงสำคัญ
เท่ากับช่วยให้เริ่มต้นในทาง “ความคิด” เพื่อบรรลุเป้าหมายในทาง “การเมือง”
เท่ากับเป็นการเริ่มต้นอย่าง”สุนทรียสนทนา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน