คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อเมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป และสิทธิของผู้ต้องหาที่หายไปจากกระบวนการยุติธรรมไทยยุคนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

วิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของนายจตุรภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง จากกรณีแชร์ข่าวจากเพจ เฟซบุ๊กบีบีซีไทย ซึ่งไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

1.สาวตรี สุขศรี

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เวลาเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจต้องพิจารณากรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจของตัวเอง กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยยังเป็นที่ ถกเถียงกันได้

หลักการคือบุคคลสามารถถูกพูดถึงได้ ไม่น่าจะเป็นความผิด แต่ในสายตาของรัฐมองว่าเป็นความผิด คำถามคือแล้วการกดไลก์กดแชร์ถือเป็นความผิด หรือไม่ คำตอบคือตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ยืนยันว่าไม่ผิด

ถามว่าการกดไลก์กดแชร์จะพิสูจน์เจตนาว่าผิดกฎหมายมาตรา 112 อย่างไร อีกทั้งสำนักข่าวบีบีซีไทยก็ไม่ถูกดำเนินคดี แต่คนที่แชร์กลับถูกดำเนินคดี และเป็นการดำเนินคดีเพียงรายเดียว ทั้งที่บทความดังกล่าวมีการแชร์หลายพันคน คำถามคือมีการ กลั่นแกล้งทางกฎหมาย หรือเลือกปฏิบัติหรือไม่

เวลาเจ้าพนักงานอ้างว่ากลัวว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพื่อถอนสิทธิการประกันตัวนั้น ในทางสากลระบุไว้ในกรณีที่เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปพูดคุยกับพยานหรือผู้เสียหายซึ่งอาจทำให้รูปคดีเปลี่ยน

กรณีของไผ่ ดาวดิน เป็นเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทราบว่าศาลสั่งให้ผู้ต้อง หาลบการแชร์ข้อความของบีบีซีไทย แต่พนักงานสอบสวนกลับฟ้องศาลเพื่อถอนประกันตัวว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปลบ โดยจะไปยุ่ง กับหลักฐาน ตรงนี้สร้างความสับสนพอสมควรว่าตกลงเอายังไง กันแน่

และกรณีสิทธิประกันตัว หลักการสากลเหมือนกันหมด คือ ผู้ต้องหาต้องสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จะปฏิบัติกับเขาเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ถ้าจะไม่ปล่อยตัวจะต้องมีเหตุผลหนักแน่นพอว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นอย่างไร เช่น เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงว่าจะไปวุ่นวายกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

ศาลต้องอธิบายให้ได้ว่าที่ไม่ให้ประกันตัวเพราะอะไร ในกรณีของไผ่ ดาวดิน ขึ้นศาลมา 5 คดี ไม่เคยหลบหนี ทำไมถึงระบุเพียงว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ในต่างประเทศมีหลักอย่างหนึ่ง เช่น ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข ไม่ต้องมีหลักประกัน ประเทศไทยไม่มีหลักการนี้ เพราะนอกจากมีหลักประกันในการปล่อยตัวแล้ว ยังสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ด้วย

อีกทั้งการเยาะเย้ยอำนาจรัฐไม่ถือเป็นความผิด ไม่มีตัวบทกฎหมายไหนระบุไว้ คำถามคือเจ้าพนักงานนำไปเป็นข้ออ้างว่าในการถอนประกันตัวผู้ต้องหา โดยเฉพาะกรณีไผ่ ดาวดิน ได้อย่างไร จึงต้องถามไปที่กระบวนการยุติธรรมนั้นบกพร่องหรือไม่ เป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่

ความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุดคือการกระทำโดยการใช้กฎหมาย กรณีของไผ่ ดาวดิน และผู้ต้องหาทางการเมืองรายอื่นๆ ก็เป็นเช่นนี้

2.อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ไทยต้องปฏิบัติตามทุกข้อ เพราะได้ให้สัตยาบันในที่ประชุมสหประชาชาติไว้แล้ว

คำถามที่นานาชาติถามคำถามแรกต่อไทยคือ ไทยจะดำเนิน การอย่างไรให้ศาลไทยนำหลัก การสิทธิมนุษยชนไปใช้ขจัดข้อบกพร่องทางกระบวนการยุติธรรม

หลายคนบอกว่าจะไปสั่งศาลได้อย่างไร แต่ตามหลักการศาลก็เป็นคนปกติสามารถมีอคติได้ เพราะฉะนั้นต้องมีหลักเหตุและผล เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการเชื่อถือจากประชาชน

อีกทั้งกรณีการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ต้องขังบางรายที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทราบว่ามีการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะทางทวารหนัก ซึ่ง กสม.ได้รับการร้องเรียนไว้แล้ว

ตามหลักสากลระบุไว้ว่าการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตาม ซอกหลืบ ถือเป็นที่เฉพาะของบุคคล ต้องมีเหตุอันควรแท้จริง แต่กรณีผู้ต้องหาที่เป็นคดีการเมืองแล้วต้องถูกตรวจร่างกายโดยเฉพาะการ ตรวจภายใน หรือทางทวารหนัก ถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ส่วนกรณีของไผ่ ดาวดิน ที่พยายามจะขอประกันตัวเพื่อไปสอบในไม่กี่วันนี้ เนื่องจากไผ่ ดาวดิน ยังเป็นนักศึกษาอยู่ กสม.มีการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะสิทธิการประกันตัว ซึ่งมีการรับปากว่าจะให้การช่วยเหลือตามสิทธิ

สำหรับกระบวนการสร้างความปรองดองส่วนตัวยังไม่เคยได้ยินเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือการรับฟังความคิดเห็นของครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บว่าต้องการอะไร ซึ่งการสร้างความปรองดองเป็นประเด็นทางสังคม ดังนั้น ควรจะต้องมีการเปิดกว้างให้สังคมและสาธารณะได้มีโอกาสร่วมถกแถลงและรับฟังความคิดเห็นด้วย

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการปรองดองยังเห็นว่าการปรองดองน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่มีการเปิดเผยความจริง รวมทั้งมีการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง คือ จะต้องมีการขอโทษ การสำนึกผิด โดยผู้ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความเสียหาย มีการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง

3.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษา ตลอดระยะเวลา 39 ปีที่เป็น ผู้พิพากษา มีครั้งหนึ่งที่แจ้งข้อหาเจ้าพนักงานตำรวจในข้อหาละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากมีการทุจริตในการทำคดี มีความพยายามหาตัวผู้ต้องหารายอื่นให้มารับโทษแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้กระทำความผิด

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาจะไม่พูดอะไรที่ตัวเองไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ไม่เคยเห็นหรือเคยอ่าน โดยเฉพาะข้อกฎหมาย กรณีสิทธิการประกันตัว การฝากขังต่อศาล หลักทั่วไประบุชัดเจนว่าจะไปคุมขัง ผู้บริสุทธิ์ไม่ได้

กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าในการฝากขังผัดที่ 5 ศาลต้องไต่สวนว่าเหตุใดพนักงานสอบสวนต้องฝากขังเพิ่ม

นอกจากนี้ในต่างประเทศศาลยังต้องเข้าไปถามผู้ต้องหาในเรือนจำเลยว่าจะคัดค้านการฝากขังจากพนักงานสอบสวนหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญไทยมีบัญญัติตามมาตรา 87 ศาลต้องไต่สวนเพื่อสิทธิการคัดค้านของผู้ต้องหา

ในทางปฏิบัติศาลต้องอ่านคำร้องของเจ้าพนักงาน และไต่สวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเหตุใดจะอนุมัติฝากขัง หรือไม่อนุมัติฝากขังเพราะเหตุใด ย้ำว่าต้องอ่านเสียงดังฟังชัดด้วย

และกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในความยุติธรรมไม่สามารถตั้งธงไว้ได้ หรือตั้งใจจะเอาผิดผู้ต้องหาได้ เพราะประชาชนจะไม่เชื่อในความยุติธรรม

ที่ผ่านมาสังคมไทยมักรู้สึกว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม

แต่ยุคนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกหมดหวัง ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจ

4.วิบูลย์ บุญภัทรรักษา

บิดาของไผ่ ดาวดิน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ ดาวดิน นั้น ในกรณีฝากขัง ซึ่งในวันนั้นศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา และการพิจารณาฝากขังผัดที่ 3 ของเจ้าพนักงาน ซึ่งได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปหาไผ่ที่เรือนจำ เขาก็อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้ไผ่ฟังจริง

ส่วนเรื่องการฝากขังและเรื่องการไม่คัดค้านไผ่ยืนยันกับผมว่าไม่มีโดยเด็ดขาด และไม่ได้เซ็นอะไรเลย

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคดีของไผ่ ปกติไผ่เป็นคนร่าเริง ถูกจับก็ยิ้ม ทุกวันนี้ร่างกายก็ยังดี แต่ที่สังเกตได้จะมีจังหวะที่เขาแสดงความไม่สบายใจ ซึ่งเขาบอกว่าหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เราเป็นนักกฎหมาย ไม่ปฏิเสธกระบวนการทางกฎหมาย แพ้ชนะตามกระบวนการก็ไม่ว่าอะไร

แต่โปรดทำตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน