มีทั้ง “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นคำว่า “ปรองดอง”

เหมือนตรงที่ “ไม่แน่ใจ”
เหมือนตรงที่แม้ว่าจะไม่แน่ใจ แต่ก็ตั้งความหวังเป็นอย่างสูงว่าจะประสบผลสำเร็จ
ต่างตรงที่ “ปฏิกิริยา” การแสดงออก
พรรคเพื่อไทยมากด้วยความระมัดระวัง แต่ละข้อเสนอพิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำอย่างเป็นพิเศษ
ไม่โฉ่งฉ่าง
รูปประโยคเต็มไปด้วยศัพท์ในทาง “นามธรรม” ประเภทเสมอภาค เท่าเทียมกัน ประเภทยุติธรรม
ไม่พยายามแสดง “ตัวอย่าง”ในเชิง”รูปธรรม”
ตรงกันข้าม กับน้ำเสียงอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่อำพราง ไม่อ้อมค้อม
ตีเข้ากลางแสกหน้า

ภายในพรรคประชาธิปัตย์อาจมีเพียง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เท่า นั้นที่แสดงออกอย่างนุ่มนวล
บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
แต่หากฟังเสียงจาก นายวิรัตน์ กัลยาศิริ จะรู้สึกในความคลาง แคลง ไม่แน่ใจ
เห็นได้จากการยก “กองกำลัง”ขึ้นมา
หากฟังเสียงจาก นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อาจไม่แน่ใจว่าใครคู่ของ “ความขัดแย้ง” แต่พอความสงสัยตกมาถึงมือ นายวัชระ เพชรทอง ก็ฟันธงไม่อ้อมค้อม
ต่อบทบาทของ “คสช.” ที่กลายมาเป็นคู่แห่ง”ความขัดแย้ง”เสียเอง
มิได้เล่นบทในฐานะ “กรรมการ”

เพียงก้าวแรกของการเสนอประเด็นว่าด้วย “ปรองดอง” มาเป็น”นโยบาย”ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า
“ปรองดอง” มิใช่เรื่องง่าย
แม้จะได้คนระดับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อน
โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “แบ็ค”
กระนั้น เส้นทางเดินก็มิได้หมายความว่าจะราบรื่นเหมือนยืนอยู่บนเนินเขา
พรรคเพื่อไทยอาจอ่อนน้อมอย่างยิ่ง รอคอยอย่างอดทน
แต่มีความเด่นชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ มิได้งอก่องอขิงในแบบเชื่องๆ
ยัง “กปปส.” อีกเล่าจะเป็นอย่างไร
ยัง “พันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย” อีกเล่าจะเป็นอย่างไร
คำถามยังอยู่ที่ว่า ใครจะ”ปรองดอง”กับใคร
เป็นเพียงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นหรือ
หรือว่ากวาดรวมเอา”คสช.”เข้าไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน