เปิดนัยยะ-ม.44ขยายเวลาแบ่งเขต

เปิดนัยยะม.44 – คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ขยายเวลาดำเนินการเรื่องแบ่งเขต เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองว่ามีเจตนาต้องการเลื่อนเลือกตั้ง

หรือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่

แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าเป็นการปกป้องกกต.ไม่ให้ถูกฟ้องร้อง จนที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

แต่ฝ่ายการเมืองก็ยังมองว่าคำสั่งดังกล่าวมีนัยยะซ่อนเร้น

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การใช้มาตรา 44 ให้กกต.ขยายเวลาดำเนินการเรื่องแบ่งเขตนั้น ก็เดากันว่าผลคืออะไร แต่สิ่งที่คนจับตาดูอยู่คือถ้าการแบ่งเขตออกมาไม่เหมือน 3 แบบที่เคยเสนอกันไว้ก็โดนด่าอีก

ถ้าออกมาเป็นแบบที่ 4 เมื่อไร คสช.ก็เป็นเป้าให้ถูกโจมตีว่าออกคำสั่งเพื่อให้แบ่งเขตตามที่กลุ่มคุณต้องการ ยิ่งตอนนี้ออกมาพูดว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา

ดังนั้นถ้า กกต.จะรักษาเครคิตไว้ให้ได้ ก็อย่าปรับให้ผิดไปจากนั้น คือมีเขตเลือกตั้ง 3 แบบ

ส่วนคำสั่งที่ออกมาเป็นการเอื้อให้พรรคที่ ตั้งขึ้นใหม่ หรือพรรคที่สนับสนุนคสช.หรือไม่นั้น เขาทำอะไรในสิ่งที่เรานึกไม่ถึงได้หลายอย่าง ซึ่งการออกคำสั่งนี้มาคนธรรมดาก็คิดได้

ดังนั้นก็ต้องรอดูแบบแบ่งเขตที่กกต.จะพิจารณาออกมาก่อน ถ้าผิดไปจาก 3 แบบ คงโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข้างเพื่อให้กลุ่มของตนได้อย่างที่ต้องการ ส่วนตัวไม่คิดว่ากกต.จะยอมลดตัวลงไปทำอะไรแบบนี้

ส่วนที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพราะรัฐบาล ต้องการยืดเวลาเลื่อนเลือกตั้งนั้น ถ้ายืดเวลาเลือกตั้ง คสช.และรัฐบาลก็โดนด่าอีก แต่ขาคิดจะทำอะไรก็ทำ อยากทำอะไรก็ได้ สามารถคิดทำอะไรเป็นรายวันได้อยู่แล้ว

แต่ถ้าเลื่อนเลือกตั้งความเสียหายสูงกว่า ดังนั้นยังคิดว่า การเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 24 ก.พ.62 ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ การเลื่อนวันเลือกตั้ง และเขาก็รู้ด้วยว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไป ความเสียหายก็เป็นของเขาเอง

สิ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือสิ่งที่เขาวางหมากไว้ ก็อยากเตือนไม่รู้จะฟังหรือไม่ว่าอย่างไรต้องมีเลือกตั้ง24 ก.พ.62

ที่รัฐบาลอ้างการออกคำสั่งคสช.เป็นการปกป้อ งกกต.ที่อาจถูกฟ้องร้อง และอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งเป็นโมฆะในที่สุดได้ ก็ต้องรอดูว่าการแบ่งเขตจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไร

แต่ถ้าออกมาผิดไปจากที่เสนอก็ถือว่าคำสั่ง นี้ออกมาเพื่อพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อปกป้อง กกต. ไม่ว่าคุณจะให้เหตุผลอะไรคนเขาก็ไม่เชื่อว่าไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใด

วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มีข้อสังเกตย้อนกลับไปก่อนมีคำสั่งคสช.ที่ 16/61 ที่ให้กกต.เลื่อนประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งออกไปได้จนถึงวันบังคับใช้พ.ร.ป. เลือกตั้งส.ส.วันที่ 11 ธ.ค.นี้ ประธานกกต.ออกมาระบุว่าพร้อมประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอีกไม่นาน

แล้วนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ก็ออกมาให้ความเห็นว่ากกต.อาจทำผิดกฎหมายฐานประกาศแบ่งเขตทั้ง 350 เขตล่าช้า วันเดียวกันก็มีมาตรา 44 ออกมา คำถามคือใครเป็นคงชงให้มี คำสั่งนี้ กกต.เสนอ หรือคสช.ทำเอง เพราะล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาระบุว่า เพื่อช่วยให้กกต.ไม่ทำผิดกฎหมาย

เมื่อเป็นดังนี้ความชอบธรรมของกกต.ชุด ปัจจุบันจึงลดลงอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาสังคมห่วงเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ชัดเจน คสช.ก็จะออกมายืนยันตลอดว่าเป็นวันที่ 24 ก.พ. 62 พร้อมชี้ว่ากกต.คือผู้มีอำนาจส่วนนี้

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมือนมีการแทรกแซงกกต. ทั้งที่ดาบอาญาสิทธิ์ในการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด อยู่ในมือของกกต.เอง

ผลของการแบ่งเขตที่เลื่อนออกไปนั้นยัง ไม่รู้จะเป็นอย่างไร จะมีแบบที่ 4 งอกออกมา นอกเหนือไปจากทั้ง 3 แบบที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง หรือมีรูปแบบเลื้อยเป็นงูตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

ถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจเป็นเงื่อนไข เกิดความวุ่นวายได้ทันทีตั้งแต่ก่อน เลือกตั้ง หากพรรคใหญ่ 2 พรรคหรือพรรคอื่นที่รอคอยความชัดเจนเรื่อง เลือกตั้ง แล้วไม่เคยได้รับทั้งการปลดล็อก การแบ่ง 350 เขต

แต่กลับได้ม.44 ที่มีผลกับกฎหมายลูกและกกต.จนกลายเป็นปัญหาที่ผูกไว้ แล้วก็ใช้กฎหมายพิเศษแก้ซ้ำอีก จนมีลักษณะแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด ก็อาจบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ขอบอยคอต ไม่ลงเลือกตั้ง จะทำอย่างไรกับเงื่อนไขที่เกิดจากผู้มีอำนาจ

หรือหากยอมให้เกิดการเลือกตั้งไปได้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วทั้งพรรคการเมืองและประชาชนเห็นว่าเกิดความ ได้เปรียบเสียเปรียบจากม.44 ที่เคยออกมาก่อนการเลือกตั้งบ่อยครั้งประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งกัน แล้วอะไร จะเกิดขึ้น

ดังนั้น กกต.ต้องมีความชัดเจนต่อการแบ่งเขต 350 เขตเลือกตั้ง เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ยึดการประกาศแบ่งเขต ตาม 3 รูปแบบที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเอาไว้ ทั้งควรอธิบายให้ได้ว่าเวลาที่ได้รับเพิ่มมาตามมาตรา 44 เอาไปทำอะไร

หากปล่อยการแบ่งเขตนอกเหนือไปจาก 3 แบบก็คงหลีกเลี่ยงความคลางแคลงใจจากสังคมไปไม่ได้ว่า นี่คือการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้แก่บางพรรค

ตลอดจนคำหยอกล้อว่าหากประเทศนี้กกต.ป่วยแค่ 1 คน ก็ไม่อาจมีการเลือกตั้งได้ ก็ทำให้สงสัยต่อไปว่านี่เป็นเหตุให้สนช. ยังไม่ยอมลงมติเห็นชอบ 2 ว่าที่กกต.ให้ครบ 7 คนใช่หรือไม่ เพราะองค์ประชุมที่ใช้คือ 5 คน หากหายไปคนนึงก็ไม่อาจดำเนินการอะไรได้เหมือนที่ผ่านมา

ส่วนมาตรา 44 เลื่อนประกาศแบ่งเขตนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเลื่อนวันเลือกตั้งจาก 24 ก.พ. 62 ออกไปหรือไม่ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ โดยอ้างว่าแบ่งเขตไม่เสร็จ

พรรคก็จะมีปัญหาในการส่งผู้ลงสมัคร ส.ส.ที่จะชัดเจนวันที่ 24 พ.ย.นี้ ตามกำหนด ให้สมาชิกที่จะลงส.ส.ต้องสังกัดพรรค การเมือง ภายในน 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง

ภุชงค์ นุตราวงศ์

อดีตเลขาธิการกกต.

จากคำสั่งคสช.ที่ 16/2561 ที่มีการ อ้างว่าเพื่อช่วยกกต. เพราะกลัวการเลือกตั้ง เป็นโมฆะเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งมีผู้ร้องเรียน การแบ่งเขตเข้ามาจำนวนมาก แต่ตามจริงแล้วไม่เป็นโมฆะอะไรเลย

การร้องเรียนเรื่องแบ่งเขตมายังรัฐบาลหรือ คสช.ก็ต้องส่งเรื่องมาให้กกต.พิจารณา จะมาคิดเองว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะทำความวุ่นวายในเขตนั้นๆไม่ได้ หรือจะมาอ้างว่าช่วยกกต.ไม่ได้ เข้าใจว่าแต่ละคนควรเล่นตามบทบาทของตัวเอง

ประชาธิปไตยต้องยอมรับว่าให้หน่วยงานที่มี อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการ ถ้าทำแล้วมีปัญหาค่อยให้เขาร้องขอเอง แต่ขณะนี้กกต.ก็ยังไม่ได้ร้องขอให้คสช.ออกคำสั่งมาช่วยเลย มีแต่ฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ออกมาระบุว่าแบ่งเขตมีปัญหา

ณ วันนี้เชื่อว่างานธุรการของสำนักงาน กกต.ได้ทำเสร็จแล้ว ส่วนเรื่องการร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่ต้องมี เรื่องร้องเรียนมาทุกสมัย และเชื่อว่าเขตเลือกตั้งมีการใช้แบบเก่าไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เดิมที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2554 ไม่มีอะไรเพิ่มเติมเลย

ที่นักการเมืองวิจารณ์คำสั่งดังกล่าว มีนัยยะของเขตที่ไม่ลงตัว และสามารถขยายการสมัครสมาชิกพรรคได้จนถึงวันรับสมัครส.ส. ลักษณะเช่นนี้มันไม่เคย มีแนวปฏิบัติ แต่เชื่อว่าคำสั่งมีนัยยะแน่นอน และคำสั่งดังกล่าวยังเอื้อให้บางพรรค

กระบวนการเตรียมการเลือกตั้งหรืองานธุรการ ต่างๆ กกต.เตรียมความพร้อมอยู่แล้วทั้งเรื่องระเบียบ หรือแม้กระทั่งการยืนยันจากกกต.เองว่ามีการแบ่งเขตแล้ว ในวันที่ 5 พ.ย. แต่มีประกาศคำสั่งคสช.ออกมา การเดินตามกฎหมายโดยไม่ต้องพึ่งคำสั่งคสช.มันก็เดินได้ทุกอย่าง

ถ้าฟังเสียงทุกฝ่ายจะเห็นได้ว่าทุกคน ต้องการและพร้อมเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 มีเพียงพรรคเล็กที่ออกมาว่าไม่พร้อมให้เลื่อนเลือกตั้ง จะพร้อมหรือไม่พร้อมรัฐบาล และกกต.ต้องเดินตามกฎหมาย ถ้าจะบอกไม่พร้อมก็คงอ้างกันได้ต่อไป

24 ก.พ.62 เราเริ่มไม่เชื่อแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะมันมีสาเหตุออกมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องใหญ่ๆ ที่คนยังไม่กล้าพูด ก็จะออกมา แม้กกต.ยืนยันว่าพร้อมเลือกตั้ง ในวันนั้นก็ตาม

ยังมองไม่เห็นว่าเรื่องไหนจะมาเป็นสาเหตุให้ต้องเลื่อนเลือกตั้ง แต่หากต้องเลื่อนเลือกตั้งตามกฎหมายเลื่อนไปได้ ถึงพ.ค.62

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ทุกเรื่องสามารถเกิดปัญหาขึ้นได้แต่การเกิดขึ้นของปัญหาอยากให้จัดการด้วย วิธีการปกติ คือเป็นการจัดการของกกต.เองด้วยอำนาจที่กกต.มีในการบริหารงานเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่ากกต.ให้เหตุผลที่ไม่ใช่ เหตุผลคือบอกว่าตัวเอง เจ็บตาทำให้การแบ่งเขตต้องล่าช้า

ปัญหาเรื่องการป่วยไข้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่ในฐานะปัจเจก แต่องคาพยพขององค์กรต้องเดินต่อไป ไม่ใช่เอาเรื่องปัจเจกมาใช้เป็นเหตุผลแบบนี้ถือว่าไม่สมควร หากกกต.มีปัญหา ก็ไม่สมควรชี้แจงเหตุผลในลักษณะนี้

กกต.ต้องชี้แจงเหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่า นี้ เพื่อให้สังคมเห็นความจำเป็นในการขยายการจัดการเขตเลือกตั้ง ถ้ากกต.สามารถแก้ปัญหาตรงนี้คงไม่ต้อง ถึงมือคสช. แต่กกต.กลับไม่สามารถชี้แจงปัญหาหรือแสดงเหตุผลได้เพียงพอ ในขณะนี้ที่ตัวเองมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง

ประการต่อมาคือคสช.ไม่ควรใช้อำนาจมาตรา 44 น่าจะวางตัวเป็นกลางเพื่อคอยกำกับ ดูแล กระบวนการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย

แต่ถ้ามองในทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.เองมีความพยายามสืบทอดอำนาจผ่าน กลไกการเลือกตั้ง โดยมีบางพรรคที่คสช.เป็นพันธมิตรอยู่สนับสนุนตรงนี้ก็เป็นประเด็นใน เมื่อพรรคหรือเครือข่ายพรรคที่จะสืบทอดอำนาจ ยังไม่ลงตัวเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในการเลือกตั้ง และเกิดปัญหามาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะเป็นคนจัดการในเมื่อ กกต.เอง ก็ไม่กล้า ทั้งหมดจึงต้องโยนมาที่คสช. เป็นเหตุให้คสช.ต้องเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าสังคมย่อมคลางแคลงใจว่าทำไมคสช.ใช้มาตรา 44 เข้าไปแทรกแซงกลไกการเลือกตั้ง ในขณะที่ตัวเอง มีความประสงค์ที่จะสืบทอดอำนาจเช่นเดียวกัน

จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มว่าจะไม่แฟร์ ก็เลยทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าถูกจับตามองเป็นพิเศษทันที

ส่วนกกต.จะถูกฟ้องร้องหรือไม่เป็นสิ่งที่ กกต.ต้องรับผิดชอบ แต่กกต.ได้กลายเป็นตรายาง แสตมป์ความชอบธรรมให้คสช.กับรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจทำให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดปัญหาได้

ส่วนเสียงวิจารณ์คสช.ต้องการยืดเวลาเลือก ตั้ง เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เพราะยังมีโอกาสยื้อไปได้ ถ้าการจัดเขตเลือกตั้งไม่ลงตัวก็ยื้อการเลือกตั้งไปโดยปริยาย ทางออกหนึ่งคือกกต.เป็นเจ้าภาพเชิญ ผู้มีส่วนได้เสียมาทำสัตยาบันร่วมกัน อย่าสร้างความคลุมเครือ

ส่วนการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น ไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือหลังวันที่ 24 ก.พ. แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะตอนนี้รัฐบาลไปต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้เลือกตั้ง

กรอบ ทองเสียดสด-61.ai

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน