คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หรือใน 12 จังหวัด ชัดเจนขึ้นในช่วงเวลานี้ นับจากสถานการณ์บ่งบอกถึงความรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559

ยอดบริจาคที่รัฐบาลเป็นแกนกลางระดมความช่วยเหลือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผ่านรายการทางโทรทัศน์สูงกว่า 329 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณที่แต่ละจังหวัดมีอยู่แล้ว 100 ล้านบาท

ในจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 76 ราย สำนักนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 50,000 บาทให้แล้ว และกรณีช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอื่นๆ เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือน ฯลฯ จะเร่งเยียวยาในโอกาสต่อไป

เป็นมาตรการรับมือในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับแนวทางการดูแลผู้ประสบอุทกภัยในช่วงวิกฤตเพิ่มเติมของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจน้ำดื่มสะอาดในแต่ละพื้นที่ประสบภัยให้มีเพียงพอ การสำรวจจำนวนนักเรียน นักศึกษาและโรงเรียน สถานศึกษาที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมจนเปิดการเรียนการสอนไม่ได้ รวมถึงมาตรการเร่งรัดสูบน้ำเสีย การประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคหลังน้ำท่วม

แม้จะยังมีข้อถกเถียงอยู่บ้างว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ นั้นอาจมาช้า แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่ามาช้ายังดีกว่าไม่มา เพราะความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติครั้งนี้ยังต้องอาศัยมาตรการฟื้นฟูอีกมาก

โดยเฉพาะเมื่อมีตัวเลขประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจสูงราวหลักหมื่นถึงหลักแสนล้านบาท

เป็นภารกิจใหญ่และต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

สําหรับมาตรการรับสถานการณ์ในระยะยาว แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องระบบบริหารจัดการน้ำที่จะเชื่อมโยงกับเรื่องผังเมือง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะวนเวียนตามภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และการประนีประนอมในแต่ละ ท้องถิ่น ผังเมืองหรือแผนบริหารจัดการน้ำสูตรเดียวไม่อาจแก้ปัญหาเหมารวมได้ทั้งประเทศ หากต้องเป็นเฉพาะพื้นที่

การหักดิบด้วยแผนการที่มาจากเจตนาดีและผลประโยชน์ของรัฐ นอกจากเสี่ยงว่าจะแก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว อาจเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีก

ดังนั้น การแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาด้านภัยพิบัติก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องการกลไกทางการเมืองที่ฟังเสียงประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน