ยิ่งผ่านไปนานวัน “ปรองดอง” จะสะท้อนความละเอียดอ่อนยิ่งของ “การเมือง”

ถามว่าทำไมต้องชิงไหวชิงพริบ
เงาสะท้อนแห่งการชิงไหวชิงพริบสัมผัสได้จากท่าทีอันออกมาจาก พรรคประชาธิปัตย์ ประสานเข้ากับ กปปส.
เริ่มจากการกระโดดออกจาก “คู่ขัดแย้ง”
ไม่ว่า นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ไม่ว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ล้วนไม่ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด
ตามมาด้วยการกระโดดออกจาก”เอ็มโอยู”
น้ำเสียงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เด่นชัดว่าจะไม่ยอมลงนามในความตกลงใดๆ
เท่ากับเป็นการปฏิเสธตั้งแต่ยังไม่มี “เอ็มโอยู”
เหมือนกับ พรรคประชาธิปัตย์ จะรู้ “เค้า” มาก่อน เหมือนกับ กปปส.จะรู้ “เค้า”มาก่อน
จึงต้อง “ชิง” ปฏิเสธไว้ก่อน

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีของกปปส.จึงแตกต่างไปจากท่าทีของพรรคเพื่อไทย ท่าทีของนปช.
พรรคเพื่อไทย “เห็นชอบ” เต็มที่
น้ำเสียงชื่นชมต่อบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงกระหึ่มดัง
ทั้งจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็ไม่อ้อมค้อม
ให้โอกาส พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เต็มที่
เหมือนกับรับรู้ว่า กระบวนการ”ปรองดอง” นี้มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร และต้องการอะไร
ตั้งความหวังว่าจะสามารถ”ยุติ”ปัญหาลงได้
ปัญหาอันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ปัญหาอันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
จึงให้โอกาส พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ท่าทีของพรรคเพื่อไทย ท่าทีของนปช. กับ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีของกปปส.
จึงน่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ
ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เป็นท่าทีที่แตกต่างกัน 2 ท่าทีอย่างเด่นชัด
ขณะที่พื้นฐานในทาง”ความคิด”เหมือนกัน
เหมือนกันตรงที่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่านปช. ไม่ว่าพรรค ประชาธิปัตย์ ไม่ว่ากปปส.
ล้วนเป็นการชิงไหวชิงพริบ
ฝ่าย 1 อาศัยการเห็นด้วยมาเป็นอาวุธ ฝ่าย 1 อาศัยการไม่เห็นด้วยในรายละเอียดมาเป็นอาวุธ
เป้าหมายมิใช่ “คสช.”อย่างแน่นอน
ตรงกันข้าม เป้าหมายอยู่ที่ “ประชาชน” เป้าหมายอยู่ที่ “ชาว บ้าน” จะมองและเห็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน