คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …. โดยตั้งกก.ยุติธรรมอาญา 11 คน รวบรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง 22 ต.ค.2557 ที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชน รวบรวมคดี-จำแนกคดี เสนอศาลพิจารณา หรือรื้อคดีได้

หลายฝ่ายมองว่าจะช่วยลดความขัดแย้งได้หรือไม่

โคทม อารียา

ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา ม.มหิดล

กรณีสนช.ยกร่างกฎหมายอำนวยความยุติธรรม คดีการเมือง โดยตั้งกรรมการขึ้นมารวบรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2557 จะช่วยลดความขัดแย้งได้จริงหรือไม่นั้น

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วความขัดแย้งเกิดจากความรู้สึกว่าบุคคลไม่ได้รับความ เป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติหรือการกระทำที่เป็นสองมาตรฐาน หรือเป็นความผิดพลาดของผู้รักษากฎหมาย หรือรัฐ เช่น การจับแพะ

ดังนั้น หากมีกฎหมายที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าย่อมช่วยลดความขัดแย้งได้อยู่แล้ว แต่ต้องดูเงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ อีกด้วยว่าเป็นอย่างไร

การกำหนดว่าให้รื้อคดีได้ด้วย เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูเงื่อนไขว่าการจะรื้อคดีจะทำภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เพราะเวลานำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม

ส่วนที่เน้นเรื่องทางการเมือง แต่ไปทำผิดกฎหมายอาญา เช่น การที่บุคคลต่อสู้ทางการเมือง ขณะที่มีการชุมนุม มีการใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมมากเกินไป หากรื้อคดีแล้วให้ผ่อนผันหรือลดโทษน่าจะเป็นสิ่งที่ดี

แต่ถ้าการกระทำผิดนั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อเจตนาทางการเมือง เช่น อาศัยสถานการณ์ทางการเมืองไปทำผิดคดีอาญา แบบนี้อาจไม่อยู่ในขอบข่ายที่อยู่ในการพิจารณา

สรุปได้ว่า มองว่าการจะมีกฎหมายอำนวยความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนรูปแบบที่ตั้งกรรมการรวบรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้น เป็นธรรมดาที่ต้องมีคณะบุคคลทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูล โดยคณะกรรมการต้องไม่เลือกปฏิบัติ และต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันได้

ทั้งนี้ การกระทำผิดทางการเมืองย่อมเป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว แต่ทำให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ ตรงนี้เห็นว่าความหมายยังไม่ชัดเจน เพราะต้องมีความรุนแรงในการกระทำผิดอาญาอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะครอบคลุมแค่ไหนต้องชัดเจน เช่น กรณีของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่ยังจับใครไม่ได้ หากจับได้แบบนี้ไม่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์

หรือกรณีของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ถูกยิงเสียชีวิต ถือเป็นการจงใจลอบทำร้าย ลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นเจตนาที่ไม่ได้ต่อสู้ทางการเมือง การลอบทำร้ายจึงไม่น่าจะครอบคลุมถึง

แต่หากเป็นความวุ่นวายทุบตีกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ อาจจะพิจารณาได้ว่าพัวพันกับการชุมนุมทางการเมือง แบบนี้อาจพิจารณาผ่อนผันได้

อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายอำนวยความยุติธรรม เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความปรองดอง เพราะสนช.คงไม่ทำอะไรที่ขัดกับรัฐบาลอยู่แล้ว

ดิเรก ถึงฝั่ง

อดีตส.ว.นนทบุรีและอดีตสมาชิกสปช.

เห็นด้วยกับแนวทางการเสริมสร้างความปรองดอง ที่รัฐบาลคสช.จะเป็นเจ้าภาพในการผลักดัน เพราะรัฐบาลเท่านั้นที่จะเป็นแกนกลางผลักดันเรื่องนี้ได้ โดยหัวใจสำคัญของกระบวนการทั้งหมดคือ ความเป็นธรรม มิเช่นนั้นความสามัคคีของคนในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้

แต่ร่างกฎหมายการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมืองของ สนช. ในส่วนของโครงสร้างคณะกรรมการ 11 คนนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้ง

ฉะนั้น หากยึดแนวทางตามโครงสร้างนี้ จะมีปัญหา บรรดาแกนนำตลอดจนกุนซือที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งจะไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม

อีกทั้งผู้ร่างที่เป็นสมาชิกสนช.ก็ไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งจนเข้าใจสภาพปัญหา

จึงเห็นว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ควรชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐบาลในฐานะเจ้าภาพผลักดันแนวทางเสริมสร้างความปรองดอง

โดยรัฐบาลจะต้องเริ่มจากการประสานคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยเจรจา เพื่อหาข้อยุติร่วมกันว่าที่สุดแล้วการนิรโทษกรรมเพื่อจบความขัดแย้งจะไปจบที่ระดับไหน จะเริ่มจากระดับผู้ชุมนุมก่อน หรือครั้งเดียวจบ ทุกคนทุกฝ่ายรวมถึงระดับแกนนำด้วย

เวทีการพูดคุยคือ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการสร้าง ความสมานฉันท์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละฝ่ายต่างมีกุนซือคอยวางหมากการเดินเกมทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเรา ไม่อาจรู้ได้ว่า เขาคิดและวางแผนการเดินอย่างไรต่อไป หาก ไม่มาเจรจาร่วมกัน

เมื่อได้หารือตัวแทนทุกฝ่ายจนมีข้อสรุปร่วมกัน ก็เข้าสู่กระบวนการหาทางออกว่า จะจบด้วยเครื่องมือชนิดไหน

ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของรัฐบาลนี้ คือมาตรา 44 ที่จะมาอุดช่องว่างนี้ได้ หรืออาจทำได้โดยกระบวนการตราเป็นกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์

เพราะหากเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่ฟังทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ผลที่ตามมาจะไม่ต่างจากกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนการยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557 เพราะเกิดจากความต้องการและผลักดันจากฝ่ายเดียว ไม่มีการตกผลึกร่วมจากคู่ขัดแย้ง จนอีกฝ่ายนำม็อบลงสู่ท้องถนน แล้วเป็นปัญหามาจนวันนี้

การสร้างความยอมรับแก่ทุกฝ่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์

ปธ.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

ราง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …. ของสนช.คล้ายกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ถือว่ามีความชัดเจนขึ้นกว่าที่ผ่านมา ภาพรวมถือว่า สามารถยอมรับได้

เริ่มจากคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจำนวน 11 คน อำนาจหน้าที่ 5 ข้อ เห็นด้วยกับการจำแนกคดีอาญาที่ เป็นความผิดร้ายแรง กับคดีที่เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

ทั้งนี้ จำเป็นต้องแบ่งแยกผู้กระทำความผิดออกจากกัน เป็นแกนนำกับผู้ชุมนุม ควรอำนวยความสะดวกช่วยเหลือ ผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบก่อน

เช่น คดีปิดล้อมสถานที่ราชการ หรือสนามบิน ควรกำหนดให้เป็นเรื่องเล็ก สามารถละเว้นการดำเนินคดีได้ เนื่องจากเป็นธรรมดาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มวลชนย่อมเลือกยึดสถานที่สำคัญของภาครัฐ ให้เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงการไม่ยอมอำนาจรัฐบาล

ทว่าปัญหาในขณะนี้คือ คดีทางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่างมีคำพิพากษาออกมาก่อนคดีอาญา อาจมีผลต่อการพิจารณาคดีในชั้นอาญา ไม่ว่าจะเป็นคดียึดสนามบิน หรือคดีสั่งให้บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนห้างสรรพสินค้าที่โดนเผา ทั้งที่ในทางอาญายังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ชัดเจนทั้งสองกรณี

ส่วนหน้าที่การแสดงความสำนึกเสียใจต่อผลของเหตุการณ์ยังไม่ชัด ซึ่งแนวทางแสดงออกส่วนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ควรกำหนดให้ผู้กระทำความผิดมีสำนึกรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในฐานะออกไปร่วมชุมนุมแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย แล้วไปแสดงความขอโทษต่อญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องแสดงออกต่อสาธารณชน หรือต่อศาลในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ยังไม่ควรกำหนดให้ผู้กระทำความผิดออกมายอมรับว่าการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝั่งหนึ่งฝั่งใดเป็นความคิดที่ผิด เพราะจะกลายเป็นการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ที่เคลื่อนไหวไปตามความคิดเชื่อหรืออุดมการณ์ทาง การเมือง

สำหรับมาตรา 20 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ที่กำหนดให้ ศาลสั่งรื้อคดีที่เคยมีคำพิพากษา หรือคดีที่ผู้ต้องหาได้รับโทษไปแล้วมาพิจารณาใหม่ได้นั้น เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากกระบวนการนี้จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องหาที่ต้องคำพิพากษา หรือต้องโทษไปแล้ว ได้มีโอกาสพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ถือเป็นการล้างมลทินให้แก่ผู้ต้องหา ไม่ต้องมีตราบาปติดตัว สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะหลายกรณี ผู้ชุมนุมบางรายต้องติดคุกฟรี เกิดผล กระทบแก่ชีวิต บ้านแตกสาแหรกขาดกัน

มาตรการดังกล่าวจึงมีความจำเป็น โดยใช้ควบคู่กับการเยียวยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน