คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของรัฐ ครั้งล่าสุดนี้เป็นเรื่องตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อยาวตามวัตถุประสงค์ว่า คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง

มีตัวย่อให้จดจำง่ายขึ้นว่า ป.ย.ป.

โครงสร้างของป.ย.ป. มีคณะกรรมการย่อย 4 คณะ ตรงตามชื่อคณะกรรมการใหญ่ที่มีชื่อยาวเหยียด

ทั้งชื่อและที่มาตามมาตรา 44 บ่งบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการให้เห็นผลดีโดยเร็ว

แต่ดีและเร็วนั้นก็อาจก่อคำถามในแนวทางเดิมขึ้นมาอีก

การทำงานที่ทั้งดีและเร็วในทางประชา ธิปไตย มักสะท้อนถึงการเห็นพ้องร่วมกันของคนส่วนใหญ่ จนผลักดันให้กระบวนการของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าอย่างราบรื่น อาจมีกระแสคัดค้านบ้าง แต่ไม่มากจนเกินรับไหว

ส่วนการทำงานที่รวดเร็ว ฉับไว แต่ไม่ผ่านกระบวนการที่ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม จะทำให้เกิดคำถามว่าดีจริงหรือไม่ เพราะไม่แน่ชัดว่าเรื่องที่น่าจะดีนี้เป็นความเห็นของคนจำนวนเท่าใด

ที่สำคัญคืออาจถูกมองว่าเป็นการจัดการด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการได้รับความยอมรับนับถือต่อไป ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองก็คือการฝืนทำโดยคณะบุคคลที่มีจำนวนจำกัด และมีความคิดเห็นที่จำกัด ขาดการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่

ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นภารกิจใหญ่และต้องใช้โครงสร้างใหญ่ที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ ไม่ใช่การตั้งต้นด้วยคณะบุคคลในฝ่ายความมั่นคงที่จะรวดเร็วได้เหมือนการรวมพลของเหล่าทัพ

การปฏิรูปและปรองดอง รวมไปถึงการสร้างยุทธศาสตร์ จึงต้องอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยเป็นหลัก เพื่อให้เกิดพลังในการมีส่วนร่วมและผลักดัน

หากคิดจะทำทุกอย่างนี้ให้สำเร็จก่อนแล้วจึงมีการเลือกตั้ง คงไม่ใช่การเดินมาถูกทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน