คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ศาลยุติธรรมได้ลดความเหลื่อมล้ำในการปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวจำเลยในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีในศาล โดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลย เพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และไม่ต้องใช้หลักประกัน เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ คดียาเสพติดที่มีการครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก

เบื้องต้นนำร่อง 5 ศาล ประกอบด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มวันที่ 1 ก.พ. นี้

พัฒนะ เรือนใจดี

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

เห็นด้วยอย่างเต็มที่ต่อการเตรียมใช้ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะการปล่อยตัวชั่วคราว คือการประกันตามกฎหมาย จะเป็นบุคคล หรือหลักทรัพย์ก็ได้ หรือประเมินสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องก็ได้

ศาลจะใช้ดุลพินิจอำนวยความยุติธรรมให้จำเลย เพราะจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิพากษา อย่าให้ต้อง ถูกจองจำคุมขังในชั้นการพิจารณาของศาลชั้นต้น เพียงเพราะเขาไม่มีหลักทรัพย์เลย

ดังนั้น การที่ภาครัฐ รวมถึงบริษัทประกันภัย ออกมา สนับสนุนระบบประเมินความเสี่ยง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะให้ผู้ที่เป็นจำเลยได้รับการพิจารณาในศาลชั้นต้นได้เลย

เชื่อว่าการเตรียมใช้ระบบประเมินความเสี่ยง ศาลคงพิจารณารอบคอบแล้ว ที่สำคัญควรออกเป็นหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติที่ชัดเจน หรือตั้งรูปแบบเป็นองค์คณะในการประเมินความเสี่ยง อีกครั้งหนึ่งก็จะดี เพื่อให้ศาลตามต่างจังหวัดได้ปฏิบัติตามด้วยก็จะดีอย่างยิ่ง และจะยิ่งรอบคอบมากขึ้น

นอกจากนี้ ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ยังช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ ลดภาระค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่การเยียวยาได้ด้วย

ถือว่าเป็นแนวทางการดำเนินคดียุคใหม่ เป็นอาชญา และพันธวิทยายุคใหม่ เปรียบเทียบได้ว่ามีผู้ที่เสพยาก็ไม่ต้องจับเขามาติดคุก แต่เอาไปบำบัดก็เป็นการลดจำนวนเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูกก็เป็นแนวคิดที่ดีในแง่ของสังคมด้วย ที่บางคนอาจมีภาระดูแลครอบครัว

และหากมีคนมองว่าการทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ไม่สุจริต อาจส่งผลเรื่องมาตรฐานได้นั้น เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เพราะคงเป็นศาลที่พิจารณาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ และควรให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งทั้งหมดศาลจะชั่งน้ำหนักเอง

สำหรับกรณีที่ให้ทั้งพยาน และโจทก์ มีสิทธิยื่นคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้ ก็ ถูกต้องแล้ว อย่าไปตัดสิทธิเขา เพราะเขามีสิทธิ ดังนั้น ศาลต้องรับฟังก่อน เพื่อความรอบคอบ

ส่วนคดีนักการเมืองคงใช้แยกต่างหาก เพราะส่วนมากอัตราโทษเกิน 5 ปี และเป็นคนละฐานความผิด

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ส่วนตัวขอให้ความเห็นในหลักการของสิทธิมนุษยชน คิดว่าสิทธิในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้หมายความว่าปล่อยตัวหรือพ้นผิด แต่เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา

ตามกฎหมายระบุว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็น ผู้บริสุทธิ์ตราบจนกว่าจะมีการตัดสินในชั้นศาลสูงสุด ดังนั้น เมื่อยังเป็นผู้ถูกกล่าวหา สิทธิที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นสิทธิที่ควรจะได้รับ

และการปล่อยตัวชั่วคราวก็เพื่อประโยชน์ของเขาในการต่อสู้คดี เพราะจะได้มีทั้งเวลาและมีสมาธิในการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ถ้าหากเขาอยู่ในคุก จะไม่มีเวลาหาข้อมูลพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้เลย

สำหรับกรณีที่จะนำมาใช้เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีนั้น ส่วนตัวไม่ได้คิดถึงเรื่องจำนวนปี

ส่วนความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่ศาลต้องประเมินในเรื่องของทัศนะและบุคลิกของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องยอมรับว่าสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องของการที่มีกระแสสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กระแสสังคมที่ค่อนข้างเอาจริงเอาจังต่อบางเรื่องหรือความดราม่าของสังคม

ความจริงตรงนี้ไม่ควรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของศาล เราต้องเชื่อมั่นว่าศาลจะตัดสินใจบน พื้นฐานของหลักการและเหตุผล แต่เราก็ปฏิเสธ ไม่ได้ในเรื่องของอิทธิพลของความดราม่าและอะไรต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องระวังในเรื่องขอบเขต คืออย่าให้เข้าไปถึงกระบวนการพิจารณาของศาล

อย่างไรก็ตาม หากมีการพิจารณาตรงนี้แบบเป็นเรื่องเป็นราวจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีคนที่เข้าไปอยู่และจองจำระหว่างรอการพิจารณาคดีจำนวนมาก บางเรื่องเป็นคดีที่เล็กน้อย หรือกรณียาเสพติด ที่แทบจะล้นเรือนจำเลย ฉะนั้นถ้ากระบวนการตรงนี้มีความชัดเจนทำให้เกิดเป็นหลักได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี

ในฐานะที่เคยทำงานในส่วนนี้พบว่าบางครั้งกระบวนการยุติธรรมอาจจะเข้าไปกระทบสิทธิโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าทำตรงนี้ให้เป็นระบบเป็นหลักการโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ข้อครหาต่างๆ จะได้ ลดน้อยถอยลงไป ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ทั้งหมดอยู่ที่หลักการและเหตุผล

ส่วนถ้าถามว่าควรนำมาใช้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ไม่นั้น โดยหลักการน่าจะเป็นคนละส่วนกัน

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการป.ป.ช.

เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจถึงปัญหาแออัดในเรือนจำ บางรายก็ไม่ใช่คดีร้ายแรง และเข้าใจความรู้สึกของผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิด ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักการของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จำเลยยังไม่ผิดต่อเมื่อถูกพิพากษา

หลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงในการให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหา ควรระบุชัดถึงกระบวนการว่าจะดำเนินการอย่างไร หลักเกณฑ์การประเมิน ในการไต่สวนจำเลย การคัดค้านของโจทก์ รวมทั้งควรยึดการดำเนินการให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งสังคม

เนื่องจากการเสวนาล่าสุดกรณี ไผ่ ดาวดิน ได้รับเสียงสะท้อนเรื่องสิทธิและมาตรฐานการให้ประกันตัวมากว่า ทำไมเคยได้รับสิทธิประกัน แต่กลับมาถูกถอนคำสั่งประกัน ด้วยเหตุผลว่า เยาะเย้ยอำนาจรัฐในภายหลังทั้งที่ไม่เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน

ฉะนั้น ในฐานะผู้ใช้ดุลพินิจ ควรประเมินถึงความหนักเบาของข้อหา ดูพฤติการณ์ว่า เสี่ยงจะมีการหลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานหรือไม่ ให้สิทธิโจทก์ในการคัดค้าน ให้ศาลไต่สวน ผู้ต้องหา เพื่อมีข้อยุติ ซึ่งหลักการเหล่านี้เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว

เข้าใจถึงการใช้ดุลพินิจของศาลที่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมมีอิสระ ทว่ากรณีไผ่ ดาวดินนั้น มีลักษณะกว้างขวางเกินไป อาจส่งผลให้ผู้พิพากษาต้องทำงานด้วยความลำบาก

ดังนั้น เห็นด้วยกับแนวทางนำร่องเริ่มใช้เฉพาะศาลชั้นต้น 5 จังหวัด ในวันที่ 1 ก.พ. เพราะเป็นการดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป รอประเมินผลที่ออกมา

ถ้าดีก็ค่อยดำเนินการในส่วนที่เหลือทั้งประเทศ ดีกว่าเริ่มทุกพื้นที่พร้อมกัน เนื่องจากหากเกิดปัญหาผลกระทบตามมาจะเยอะ

เชื่อว่า มาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนผู้ต้องหาในเรือนจำตามวัตถุประสงค์ของศาลยุติธรรม

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรใช้มาตรการนี้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทันที เพราะผู้ต้องหาของคดีเหล่านี้มักเป็นนักการเมือง ไม่ใช่คดีร้ายแรง เข้าข่ายต้องได้รับสิทธิตามหลักกฎหมายอยู่แล้ว เนื่องจากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีสถานะของตำแหน่งหน้าที่ชัดเจน ไม่เข้าข่ายจะมีการหลบหนี

หากยังติดขัดในจุดไหน ก็สามารถเพิ่มเติมเงื่อนไขในการห้ามออกนอกประเทศได้

ชัยเกษม นิติสิริ

อดีต รมว.ยุติธรรม

เดิมกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่าคดีประเภทไหนจำเป็นต้องใช้ หลักทรัพย์มาวางประกันหรือไม่ จะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา รวมไปถึงการลงโทษด้วยว่าศาลจะพิจารณาและตัดสินลงโทษ ผู้ต้องหาในคดีนั้นๆ มากน้อยเพียงใด

มองว่าเป็นเรื่องดีหากจะมีการลงในรายละเอียดให้ชัดเจนไปอีกว่าคดีลักษณะใดเหมาะที่จะให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ในกรณีที่เป็นคดีเล็กๆ เป็นคดีที่ไม่รุนแรงมากนัก ควรให้สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ส่วนการพิจารณาของศาลว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือ ไม่นั้น จะมีลักษณะคล้ายกับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออัยการ โดยจะต้องพิจารณาว่าหากปล่อยตัวไปแล้ว จะเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือไม่ หรือจะมีการหลบหนีหรือไม่

และหากศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จะเป็นการช่วยลดภาระของทางเรือนจำในการดูแลผู้ต้องขังหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการดี เป็นการช่วยเหลือทางเรือนจำได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาวางประกัน ก็ต้องติดคุกอย่างเดียว ถึงเวลาคุกก็เต็ม

แต่โดยหลักการแล้วต้องให้จำเลยได้ประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อน ทุกคนควรมีสิทธิได้รับการประกันตัว ส่วนจะต้องมีหลักทรัพย์วางประกันหรือไม่เป็นดุลยพินิจ ของศาล

ในบางคดีศาลจะมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเลยว่าจะไม่ให้ประกันตัว เช่น คดีค้ามนุษย์ เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ กระทำผิดจริง ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่บริสุทธิ์อยู่

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการประเมินความเสี่ยง ซึ่งอาจจะไปเอื้อประโยชน์ให้กับทางจำเลยนั้น ในการใช้ดุลพินิจของศาลจะกว้างขวางมาก แต่ศาลจะมีการกำหนด ในรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะคดีรุนแรงที่มี โทษสูง เช่น คดีฆ่าคนตาย เป็นต้น ศาลจะรับฟังทั้งอัยการและพนักงานสอบสวนอย่างละเอียดรอบด้าน จึงไม่น่า กังวล

อีกทั้งศาลจะฟังความจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะทางฝ่ายโจทก์ หากคดีมีความรุนแรงมากและทางโจทก์ขอคัดค้านการให้ประกันตัว หรือแม้แต่คดีเล็กๆ แต่โจทก์กังวลว่าจำเลยจะมาวุ่นวายหากได้รับการปล่อยตัว ศาลท่านจะรับฟัง

รวมไปถึงบางคดีหากเกิดความไม่มั่นใจและเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา ศาลท่านจะรับไว้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม หากมีการวางแนวทางไว้อย่างชัดเจน ก็สามารถนำไปใช้กับการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เช่นกัน

ขึ้นกับคดีว่าร้ายแรงแค่ไหน ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ หรือจะเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน