ต้องยอมรับว่าระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีฐานที่มาไม่เหมือนกัน

คนหนึ่งเป็น “ทหาร”
เริ่มต้นตั้งแต่ “เตรียมทหาร” จากนั้นก็เข้าบ่มเพาะในโรงเรียน “นายร้อย”
รับราชการทหารตั้งแต่ “ร.ต.”กระทั่ง”พล.อ.”
ขณะเดียวกัน อีกคนหนึ่งไม่เพียงแต่เป็น “พลเรือน” หากแต่ยังเป็นพลเรือนซึ่งร่ำเรียนมาในทาง “รัฐศาสตร์” และ”รัฐประศาสนศาสตร์”
จากนั้น ก็เข้ามาเป็น “นักการเมือง”
แม้ว่าจากสถานการณ์ก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะทำให้ 2 คนกลายมาเป็นพันธมิตรของกันและกัน
แต่ระยะห่างก็ยังดำรงอยู่จากรากฐานที่แตกต่างกันระหว่าง “ทหาร” กับ “นักการเมือง”
ทำให้เหมือนกับมีปัญหาเมื่อมาถึงจุด”ปรองดอง”

จุดปัญหาเริ่มจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นแล้วว่า
กรณี”ปรองดอง” มิใช่ “เรื่องง่าย”
นี่คือ ความเป็นจริง ไม่ว่าจะมองในทาง “รัฐศาสตร์”หรือมองในทาง “การเมือง”
ขณะเดียวกัน ยิ่งมีการเสนอในเรื่อง “MOU” ยิ่งทำให้ประเด็นอันเกี่ยวกับ “ปรองดอง” กลายเป็นปม เป็นปัญหาอันมากด้วยความสลับซับซ้อน
กระทั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถลง “ปฏิเสธ”
นั่นก็คือ พร้อมให้ความร่วมมือในเรื่อง “ปรองดอง” แต่จะไม่ยอมลงนามในสิ่งที่เรียกว่า “MOU” อย่างเด็ดขาด
เท่ากับเป็นการปฏิเสธตั้งแต่ต้น
กระนั้น เมื่อคำว่า “MOU” ตกเข้าไปอยู่ในความรับรู้และความเข้าใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เรื่องยุ่งๆก็ทำท่าว่ามิได้เป็นเรื่องยุ่ง

พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำเอาคำว่า “ข้อตกลง” มาแทนที่คำว่า “MOU”
ก็ทำให้ “ด้าย” ที่พันๆอยู่เริ่มคลายออก
“ต้องเป็นข้อตกลง ส่วนจะลงนามหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องตกลงร่วมกันก่อนว่าต้องอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสันติ”
นี่คือ วิธีคิดในแบบ “ทหาร”
ทั้งมิใช่ “ทหาร” ในแบบที่อยู่บน “หอคอยงาช้าง” หากเป็น “ทหาร” ซึ่งติดดินอย่างยิ่ง
กระเดียดไปในแบบ “นักเลง” ด้วยซ้ำ
เป้าหมายก็คือ ต้องการให้ “สันติ” ต้องการให้ “ปรองดอง”ภายใต้ “ข้อตกลง”ร่วมกัน
ถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องการหรือไม่
ถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย ต้องการหรือไม่ “ความสงบ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน