ใส่เกียร์ห้าลุยฝ่ากระแสความหวาดระแวง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือป.ย.ป.

มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เป็นประธาน

กรรมการประกอบด้วย รองนายกฯ รมว.คลัง รมว.มหาดไทย รมต.ประจำสำนักนายกฯ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาแต่ละด้าน

มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่เลขานุการป.ย.ป.

ภายใต้โครงสร้างใหญ่ ยังแบ่งเป็นคณะกรรมการย่อย 4 คณะ กระจายให้ 6 รองนายกฯดูแลรับผิดชอบภารกิจแต่ละด้าน

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รับผิดชอบโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เน้นการปฏิรูปประเทศ 137 ประเด็น รับผิดชอบโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติและเตรียมการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รับผิดชอบโดยพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร กับพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง รับผิดชอบดูแลโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่ละชุดยังมีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรองประธาน 1 คน กับประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรองประธาน 1 คนเข้าร่วม

โครงสร้างของป.ย.ป. ยังมีสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ทำงานด้านธุรการ งานวิชาการ ติดตามประเมินผลการทำงานของ 4 คณะย่อย

นอกจากนี้ยังให้อำนาจนายกฯ แต่งตั้งผู้อำนวยการพีเอ็มดียู ขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่ประสานงานกับเลขาฯป.ย.ป.ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ

รายงานข่าวระบุ พล.อ.ประยุทธ์ได้วางตัวผอ.พีเอ็มดียูไว้แล้ว คือนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุจากตำแหน่งเลขาธิการครม.เมื่อกันยายนปีที่แล้ว

ภาพรวมป.ย.ป.เริ่มต้นด้วยความคึกคักอย่างยิ่ง

ในจำนวน 4 คณะย่อยภายใต้โครงสร้างป.ย.ป.

ตกเป็นข่าวสังคมให้ความสนใจและจับตามากที่สุด คือคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม

ในตอนแรกหลายคนเห็นว่า หากมีใครสักคนในรัฐบาลคสช. จะแบกภาระสร้างความสามัคคีปรองดองในชาติเป็นผลสำเร็จ คนนั้นก็น่าจะเป็นพล.อ.ประวิตร

เพราะนอกจากจะเป็น “คีย์แมน” คสช. เป็น “พี่ใหญ่” ที่รุ่นเพื่อนและรุ่นน้องในกองทัพเคารพนับถือ พล.อ.ประวิตรยังมีคอนเน็กชั่นกว้างขวาง ครอบคลุมฝ่ายการเมืองทุกขั้วค่าย

แต่พอเห็นโผรายชื่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ที่ตั้งขึ้นมา มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม นั่งเป็นประธาน

และคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 2.คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 3.คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์

รวมกรรมการและอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นทั้งสิ้น 98 คน ในจำนวนนี้เป็นบิ๊กทหาร 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถึงเป็นภาคนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งยังไม่มีการระบุชื่อที่ชัดเจน

การตั้งนายทหารเข้ามาอยู่ในคณะปรองดองครึ่งค่อนทีมนี้เอง

ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่า อาจทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองถูกสังคมตั้งคำถามมากขึ้น

สะท้อนจากเสียงทักท้วงฝ่ายการเมือง ตลอดจนอาจารย์ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ว่าโครงสร้างคณะผู้เข้ามาสร้างความปรองดองให้คนในชาติ หากมีสัดส่วนทหารมากเกินไป อาจทำให้ภารกิจประสบความสำเร็จได้ยาก

ถึงแม้คสช.และกองทัพจะปฏิเสธว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง กับใคร

แต่หากดูจากวิกฤตการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการทำรัฐประหารโดยกองทัพถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลทักษิณ กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทำให้ทหารกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองไปโดยปริยาย

ไม่เพียงเรื่องตัวบุคคลถูกตั้งแง่

การเปิดประเด็นเตรียมเชิญพรรคการเมืองมาลงนามทำบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูปรองดอง ก็ยังเป็นหัวข้อถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองอย่างเซ็งแซ่

ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และพวกที่เฉยๆ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้

เท่าที่ประมวลจากข่าวตามสื่อต่างๆ พรรคเพื่อไทยกับนปช. ส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางเดียวกัน

กล่าวคือ ถึงไม่เข้าใจเจตนาแท้จริงของรัฐบาลคสช. เหตุใดจึงปล่อยเวลาล่วงเลยมาเกือบ 3 ปี เพิ่งคิดมาทำเรื่องปรองดองตอนนี้ ในห้วงปีสุดท้ายของโรดแม็ป

ประกอบกับที่ผ่านมาเคยมีผลการศึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองไว้แล้วหลายฉบับ เช่น

รายงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน รายงานของสถาบันพระปกเกล้า รายงานปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

แต่ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้จริง

เหมือนอย่างที่”คนแดนไกล”ตั้งข้อสังเกต เหตุรัฐบาลเพิ่งจะเริ่มมาสร้างความปรองดองในช่วงนี้ อาจเป็นเพราะหวังยื้อการเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไปอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตามระดับแกนนำพรรคในประเทศ รวมถึงแกนนำนปช. ต่างยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับพล.อ.ประวิตรและทีมงาน แม้ส่วนหนึ่งยังตะขิดตะขวงใจต่อบทบาทของทหารอยู่บ้าง

สะท้อนจากข้อเสนอแนะเชิงประชดประชันให้ทหารลงนามเอ็มโอยู ให้สัจวาจาว่าจะไม่ทำปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยอีกต่อไปในอนาคต

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำหลายคนแสดงการตอบรับที่ดี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ยืนยันพร้อมรับเชิญไปให้ความเห็นข้อเสนอแนะกับทีมงานปรองดองของพล.อ.ประวิตร เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

แต่โดยส่วนตัวไม่อยากให้ยึดติดแนวทางว่าจะต้องเซ็นเอ็มโอยู รวมถึงแนวทางการนิรโทษกรรม เพราะอาจเป็นการตั้งโจทย์ผิดและทำให้หลงทางได้

ขณะที่อดีตแกนนำกปปส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศเสียงดังฟังชัด พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

ส่วนเรื่องปรองดอง นายสุเทพอ้างว่ายังมีข้อวิตกกังวล ยืนยันจะไม่ร่วมเซ็นเอ็มโอยูด้วยเด็ดขาด เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์และไม่ใช่ทางออกปัญหาที่แท้จริง

ด้วยความคิดเห็นและท่าทีอันหลากหลายต่อการสร้างความปรองดอง ซึ่งถูกยกให้เป็นหัวใจสำคัญของป.ย.ป.

แค่เริ่มต้นก็ทำให้บรรยากาศทางการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ส่วนบั้นปลายท้ายสุดจะบรรลุผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ฝันไกล จะไปถึงหรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน