คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

จุดสนใจของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่เต็มไปด้วยทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกองทัพนั้นมีคำอธิบายแนบมาว่า เพราะทุกคนเป็นกลาง

คำอธิบายนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษทั้งยังทำให้เกิดข้อถกเถียงที่น่าคิด

โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอให้ทหารลงนามเอ็มโอยูด้วยว่าจะไม่รัฐประหารอีก

คำตอบที่ตามมาในทันทีคือการปฏิเสธ พร้อมคำอธิบายว่า การรัฐประหารโดยกองทัพ จะทำเมื่อบ้านเมืองไปไม่ได้แล้วและเกิดความขัดแย้งเท่านั้น

นี่เป็นคำอธิบายสำคัญ หรือ คีย์เวิร์ด ที่เคยกำหนดและจะกำหนดอนาคตการเมืองไทย

มีกรณีศึกษาของประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่แข็งแรงอย่างแกมเบีย ในทวีปแอฟริกา เกิดขึ้นพอดีในช่วงเวลานี้

แกมเบียเผชิญวิกฤตทางการเมืองที่มาถึงจุดที่บ้านเมืองไปไม่ได้ เนื่องจากผู้นำที่ปกครองประเทศมานาน 22 ปี ไม่ยอมลงจากอำนาจ ทั้งที่แพ้การเลือกตั้งอย่างชัดเจน

แต่ขั้นตอนของการยื้ออำนาจตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนมาถึงต้นปีนี้ยุติลงในที่สุด เมื่อผู้นำกองทัพประกาศไม่เข้าแทรกแซง แม้เป็นที่รู้กันว่าสนิทกับผู้นำที่แพ้การเลือกตั้งคนนี้มาก

นี่เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญยิ่งกว่าแรงกดดันจากภายนอกประเทศที่ให้เคารพผลการเลือกตั้งและเสียงของประชาชน

ในกรณีนี้เป็นเรื่องน่าคิดว่า หากกองทัพตัดสินใจเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยให้ผู้นำคนเก่าอยู่ต่อได้ อาจเป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาด เพราะย่อมถูกนานาประเทศคว่ำบาตร

หากกองทัพก่อรัฐประหารแล้วขึ้นเป็นผู้นำประเทศเองโดยยึดคำอธิบายว่าต้องการให้บ้านเมืองสงบและประเทศเดินต่อไปได้ อาจเป็นทางเลือกที่ดูดีกว่า แต่เสี่ยงมากที่จะถูกประณามและคว่ำบาตรไม่ต่างจากทางเลือกแรก

เพราะโลกในยุคปัจจุบัน ทางออกนี้ไม่เป็นที่น่าเชื่อถืออีก และไม่สามารถอ้างว่าประชาชนสนับสนุนได้

ความเป็นกลางของกองทัพคือการไม่เข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่ต้องเลือกรักษาความสงบโดยยึดหลักนิติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน