คอลัมน์ รายงานพิเศษ

จากกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เสนอให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทำ เอ็มโอยูปรองดอง ซึ่งพรรคพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ต่างขานรับ ขณะเดียวกันก็ได้เรียกร้องจากทหารเช่นกัน ให้ทำเอ็มโอยูว่าจะไม่ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญอีก

นักวิชาการสะท้อนมุมมองข้อเรียกร้องให้ทหารทำเอ็มโอยู ดังนี้

ไชยันต์ รัชชกูล

ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

แนวทางการกำหนดให้พรรค การเมืองร่วมลงนามสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความปรองดองของรัฐบาลคือ การ ตั้งโจทย์ผิด มันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มาลงนามข้อตกลงร่วมกัน รอรัฐบาลแต่ละชาติปรับนโยบายแล้วปัญหาจึงคลี่คลาย อีกทั้งยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ดำเนินการลักษณะนี้เพื่อหวังสร้างสามัคคี ต่อให้ นักการเมืองมาลงนามร่วมกันก็เชื่อว่าปัญหานี้จะยังไม่จบ

สะท้อนถึงความไม่เข้าใจปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่แค่ขัดแย้งกันในหมู่พรรคการเมือง แต่ครอบคลุมไปยังทุกหน่วยของสังคมชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย อย่างการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็เป็นเพียงการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นนำฝ่ายจารีตกับคณะราษฎร ซึ่งอยู่ เฉพาะในเขตพระนคร

แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นทุกมิติของสังคม ขยายวงอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ความคาดหวังว่าจะยุติปัญหาขัดแย้งด้วยการให้นักการเมืองไม่กี่พันคนมาลงนามเอ็มโอยูร่วมกันจึงเป็นไป ไม่ได้ ประชากรส่วนใหญ่อีกนับล้านยังคงความขัดแย้งอยู่ และไม่อาจเยียวยาได้ง่าย เป็นบาดแผลร้าวลึก เช่น มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ จากเดิมมีสวัสดิการ 30 บาท ขณะที่กองทัพมีเงินไปซื้ออาวุธจำนวนมาก หรือนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม แต่เลิกมาตรการช่วยพยุงราคาสินค้าทางเกษตร ตลอดจนในทางการเมืองที่มีการล้มเลือกตั้ง ล้มรัฐธรรมนูญ

กองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่สามารถอ้างได้ว่า ประชาชนสนับสนุนจึงต้องออกมายึดอำนาจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2557 ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 สูตรการรัฐประหารมีรูปแบบเดียวกันคือ สร้างม็อบล้มรัฐบาลเพื่อปูทางให้ทหารออกมา ข้ออ้างทางการเมืองทางความมั่นคงจึงฟังไม่ขึ้น

ฉะนั้นข้อเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองอยากให้กองทัพร่วมเซ็น เอ็มโอยูเลิกยึดอำนาจจึงไม่มีประโยชน์ มันไม่มีหลักประกันว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

การผลักดันการสร้างความปรองดองในขณะนี้ที่มีรัฐบาลทหารเป็นแกนนำ กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ โดยให้ทหารส่วนใหญ่เป็นกรรมการจึงไม่เกิดประโยชน์

หนทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งคือรีบคืนการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกชุดต่อไปเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน อีกทั้งกองทัพต้องกลับกรมกอง เลิกยุ่งกับการเมือง พร้อมยอมรับด้วยว่าตัวเองไม่มีความรู้ และนี่ไม่ใช่หน้าที่

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

กรณีที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชา ธิปัตย์เรียกร้องให้ทหารลงนามเอ็มโอยู ว่าจะไม่ทำการรัฐประหาร และจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญอีก ผมว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ เรื่องแบบนี้อยู่ที่จิตใจที่เป็นประชา ธิปไตยของทหาร หรือรักประเทศชาติแค่ไหนมากกว่า

ดังนั้น อย่ามาใช้ข้ออ้างเรื่องความจำเป็นทำให้ต้องรัฐประหารโดยที่ไม่ดู ผลเสียที่จะตามมา เพราะการรัฐประหารไม่ใช่แนวทางตามระบอบประชาธิปไตย สำคัญที่สุดคือได้ทำตามกฎหมายหรือไม่

ผมจึงมองว่าข้อเรียกร้องของ 2 พรรคเป็นการเรียกร้องเพื่อประชดมากกว่า เหมือนว่าทางทหารเรียกร้องให้พรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ เซ็นเอ็มโอยู เมื่อเป็นเช่นนั้นเหตุใดทหารจึงไม่เซ็นด้วย

ส่วนตัวเชื่อว่าแนวทางการสร้างความปรองดองไม่จำเป็นต้องมีการลงนามเอ็มโอยูใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่เราต้องช่วยกันรักษากฎหมาย ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย บังคับใช้ด้วยความสุจริตเป็นธรรมกับ ทุกคน ทุกฝ่าย รวมถึงการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีบทลงโทษที่เห็นผลได้จริง การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะไม่เกิดขึ้นและ ไม่เกิดปัญหาตามมา หากทำได้แบบนี้การเซ็นเอ็มโอยูก็ไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ การเรียกร้องให้ทหารมาเซ็นเอ็มโอยูว่าจะไม่รัฐประหาร ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญอีก หากเซ็นไปแล้วภายหลัง ก็ยังอ้างได้ว่าเป็นการเซ็นคนละยุคสมัย ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องคือการสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนเรื่องของความเป็นธรรม การแก้ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมในสังคม หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำเอ็มโอยู เพราะความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีความ ยุติธรรม

ผมอยากให้พิจารณาด้วยว่าคนกี่เปอร์ เซ็นต์ของประเทศที่ทะเลาะกัน วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การจับคนนั้นคนนี้มาเซ็นเอ็มโอยูแล้วทุกอย่างจะจบ แต่ปัญหาความ ขัดแย้งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขร่วมกันในเรื่องของความเป็นธรรม หากสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้เมื่อใด เมื่อนั้นความปรองดองจะเกิดขึ้นได้เอง

แต่เท่าที่เห็นตอนนี้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง ผมยังไม่เห็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็คงแก้ปัญหาความ ขัดแย้งไม่ได้ รัฐบาลต้องดูว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ โดยเฉพาะคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นต้องได้รับความ เชื่อถือ และยอมรับจากสังคมด้วย ไม่ใช่ไปผลักดันคนของตัวเองขึ้นมาทำ

ส่วนที่กลุ่ม กปปส.ปฏิเสธลงนามเอ็มโอยูเรื่องความปรองดอง ผมอยากถามว่ากลุ่มกปปส.เป็นกลุ่มการเมืองจริงหรือไม่ เขาทำให้บ้านเมืองเสียหายก็ต้องถูกดำเนินคดี ใครทำผิดก็ต้องจับ ไม่ใช่เอื้อเฟื้อกันแบบนี้ก็จะเป็นปัญหาอยู่ดี

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ

แนวทางให้พรรค และนักการเมืองลงนามสัญญาประชาคมเพื่อยุติความขัดแย้งจะไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหา

หากจำกันได้แนวทางนี้รัฐบาล เคยดำเนินการแล้วครั้งขอนแก่นโมเดล นำมวลชนสองฝ่ายมาลงนามเลิกทะเลาะกัน

ได้ผลในแง่ของสัญลักษณ์ แต่ไม่ได้เกิดผลที่แท้จริง อีกทั้งความขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะเพียงบางพื้นที่ แต่มีทั้งประเทศ

เช่นเดียวกับข้อเสนอจากฝ่ายการเมืองให้ทหารลงนาม เอ็มโอยูเลิกรัฐประหาร ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันในทางปฏิบัติว่ากองทัพจะไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีก

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสูด แต่เราก็ยังเห็นการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง แล้วสัญญาอื่นที่จะมาลงนามร่วมกันคงไม่เกิดผลอะไร

ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มเองยังยอมรับแนวทางการยึดอำนาจ ล้มรัฐบาลเลือกตั้งจากกองทัพ ข้ออ้างจากทหารที่ระบุว่าประชาชนสนับสนุนให้รัฐประหารจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเรื่องจริง

ดังนั้น ทั้งนักการเมือง กองทัพ และประชาชน จำเป็นต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนักการเมืองและกองทัพต้องยึดถือกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ประชาชนต้องเรียนรู้ยอมรับความเท่าเทียมในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น

เลิกยอมรับการใช้อำนาจนอกระบบ ทำความเข้าใจว่านั่นคืออุปสรรคของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่สำคัญคือต้องยอมรับผลการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ที่ออกมา

ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่มีอยู่ทั่วโลก ล่าสุดกรณีสหรัฐอเมริกา ทว่าการแสดงออกของผู้ชุมนุมต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อยู่ภายใต้ขอบเขต แต่สุดท้ายนำไปสู่การยอมรับการเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยกลไกของประชาธิปไตย

กระบวนการทางประชาธิปไตยจึงเป็นหนทางเดียวในการออกจากความขัดแย้ง เนื่องจากมันเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค

การผลักดันตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อแก้ปัญหาของสังคมไทยที่สั่งสมมาดูจะไม่สมเหตุสมผล เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็ดำเนินการลักษณะนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดผลอะไร

ทางแก้ไขมีเพียงทางเดียว คือกลับมาเดินบนหนทางประชา ธิปไตยให้เร็วที่สุด หากใครปฏิเสธหนทางนี้ก็ควรทบทวนตนเองให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ถ้าไม่เอาประชาธิปไตยก็ต้องเลิกใช้ประชาธิปไตยมาบังหน้า

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผมเชื่อว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยทราบดีว่าทหารคงไม่มาเซ็นเอ็มโอยูตามคำเรียกร้อง จึงมองว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงลีลาทางการเมืองเท่านั้น ให้ผมพูดตรงๆ คือข้อเรียกร้องแบบนี้ไม่ใช่ประเด็นที่เราต้องไปให้ความสำคัญ ซึ่งการที่บอกว่าทหารต้องมาเซ็นเอ็มโอยู ถามว่าทหารคนไหนที่มาเซ็น ทหารในวันนี้การันตีแทนทหารในวันหน้าได้หรือไม่ ซึ่งในโลกความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้

ผมจึงอยากเสนอแนะว่าทั้งสองพรรคใหญ่ควรนำศักยภาพมาแก้ไขปัญหาเชิงระบบว่ารัฐบาลพลเรือนกับกองทัพจะทำงานร่วมกันให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้อย่างไร ผมจึงรู้สึกผิดหวังกับทั้ง 2 พรรคนี้ที่เป็นพรรคขนาดใหญ่มีศักยภาพเป็นรัฐบาลมาแล้ว

ดังนั้น ข้อเรียกร้องถึงทหารทั้งสองพรรคคงทราบดีว่าการเซ็นเอ็มโอยูไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงโวหารทางการเมือง ซึ่งไม่มีความสำคัญ

ส่วนที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะเซ็นเอ็มโอยูเลิกปฏิวัติจะส่งผลกระทบต่อการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลทำอยู่หรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะแนวทางการสร้างความปรอง ดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เราจะเห็นว่าเป็นการสร้างความปรองดองที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยเลย มีแต่แกนนำที่ปรองดองกันเอง

ทั้งนี้ การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังมีการเอารัด เอาเปรียบกันในสังคม หากเป็นเช่นนั้นคงปรองดองกันได้เฉพาะคนที่เซ็นเอ็มโอยู คำถามที่ตามมาคือคนที่ได้รับผล กระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองจะเอาคนเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน หากใช้วิธีการแบบนี้ สิ่งที่ได้คงเป็นเพียงพิธีกรรมในการเซ็นเอ็มโอยูที่สวยหรูเท่านั้น

สำหรับแนวทางที่จะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้นั้น ผมเห็นว่าวันนี้เราต้องมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่องก่อน โดยเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่ออกมาประกาศอยู่ตลอดว่าจะเลือกตั้งกลางปี แต่ไม่ระบุวัน เวลาที่ชัดเจน รวมถึงการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็เห็นว่าควรต้องรีบทำ โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความจำเป็นต่อการเลือกตั้ง หากมีความชัดเจนทุกคนก็จะเห็นปลายทาง

ที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ยังไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างเมื่อนั้นก็จะไม่มีความปรองดอง ดังนั้น ควรต้องยกเลิกการเรียกปรับทัศนคติ หรือคำสั่งต่างๆ ที่เป็นการปิดกั้น เพื่อให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมที่แท้จริง หากเริ่มจากตรงนี้ได้ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน