เลือกตั้ง24ก.พ.62 แนวรบไม่เปลี่ยน

เลือกตั้ง24ก.พ.62 – ภายใต้ “กลไก” สร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจ พร้อมจัดวาง “กับดัก” ไว้ทุกระยะเพื่อทำลายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

สะท้อนชัดผ่านแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ กล่าวแบบตรงไปตรงมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 “ดีไซน์” มาเพื่อพวกเรา รวมถึงกระบวนการได้มาซึ่ง 250 ส.ว.

“จากประสบการณ์ทางการเมืองเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสง่ายกว่าคนอื่น ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะ คสช.มีอำนาจแต่งตั้งส.ว.ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดในบทเฉพาะกาล และส.ว.เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.” นายสมศักดิ์ เทพ สุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐระบุ

นอกจากการออกแบบการเลือกตั้งสูตรจัดสรรปันส่วนผสม

ซึ่งมีเป้าหมายสกัดไม่ให้พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งส.ส.เกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

การใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เบื้องหน้าอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ให้ล่าช้าจนเกิดปัญหาทางข้อกฎหมาย

แต่เบื้องหลังกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน กระหึ่มว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ต่างจาก “ใบสั่ง” ให้กกต.ดำเนินการแบ่งเขตใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางพรรค การเมืองในการเลือกตั้ง

โดยมี จ.สุโขทัย เป็นหนึ่งในตัวอย่างความพิสดารและพิลึกพิลั่นอย่างไม่เคยมี มาก่อน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำฝ่ายยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ แสดงความมั่นใจว่า พรรคจะได้รับเลือกตั้งส.ส.มากกว่า 150 ที่นั่งในส่วนส.ส.เขต แยกเป็นอีสาน 50-60 ที่นั่ง ภาคกลาง 40 ที่นั่ง

ส่วนภาคเหนือที่มีเก้าอี้ส.ส.ให้ช่วงชิง 33 ที่นั่งตามการแบ่งเขตใหม่ คาดว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้จำนวนที่นั่งสูสีกับพรรคเพื่อไทยเจ้าถิ่น

พฤติการณ์ของสมาชิกพรรค คสช. ในการตั้งโต๊ะแจกจ่ายสิ่งของให้ประชาชนในชุมชนโดยอ้างเป็นการทำบุญให้กับมารดา

การขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดยักษ์ในพื้นที่ จ.ราชบุรี เชียร์ “ผู้มีอำนาจ” อย่างออกหน้าออกตา ยกย่องเป็นคนไม่โกงกิน มุ่งมั่น ตั้งใจจริง เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริตในการทำงานให้กับประเทศชาติและประชาชน

ท่ามกลางการเพิกเฉยของ กกต. อ้างว่ายังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จึงไม่สนใจต่อเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่

ยังมีเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมันมือ นับแสนล้านบาทในช่วงได้-เสียทางการเมือง

ไม่ว่าการเติมเงินบัตรคนจน จ่ายค่ารถให้คนชรา อุ้มยางพารา-ปาล์มน้ำมัน ขึ้นค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) แจกซิมเน็ตแก้จน แจกอั่งเปา ลดค่าปุ๋ย ฯลฯ

รวมถึงการสัญจรลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อพบปะชาวบ้าน ตีปี๊บโหมประโคม “นโยบายประชารัฐ” ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นชื่อพรรคการเมืองของ คสช.

เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญช่วยให้ เส้นทางการสืบต่ออำนาจของคสช.และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะดวกง่ายดายเหมือนเดินบนพรมโรยด้วยกลีบกุหลาบ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 1 ใน 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า

พรรคจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ของพรรคในการเลือกตั้ง และจะมีการพูดคุยกันในพรรคอีกครั้งว่าอีก 2 รายชื่อจะเป็นใคร

ประกอบกับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นอกจากจะไม่ปฏิเสธแล้ว ยังได้แสดงความพร้อมในการรับพิจารณา หากได้รับเทียบเชิญจากพรรคพลังประชารัฐ

ถึงจะอ้อมค้อมไปมา แต่ก็ชัดเจนพอทำให้พรรคการเมืองในปีกประชาธิปไตย รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ รีบลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

เพื่อความ “ฟรี” และ “แฟร์”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงเจตนาชัดเจนว่าจะเข้าไปสู่พรรคการเมืองในบัญชีรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนา ยกฯ

ต่อมารัฐมนตรีร่วมคณะที่เป็นรองหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ ได้ประกาศว่าจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรค และพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ปฏิเสธใดๆ

สถานะของพล.อ.ประยุทธ์จึงอยู่ในฐานะ “ผู้แข่งขัน” ในตำแหน่งนายกฯ ไม่สามารถทำหน้า “กรรมการ” ได้อีกต่อไป

ส่วนเหตุผลว่าที่ผ่านมาต้องมีรัฐบาลรักษา การโดยไม่ต้องลาออก แต่คำว่า “รัฐบาลรักษาการ” เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ กกต.ไม่ว่าการใช้งบฯ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจตามมาตรา 44 จนถึงได้รัฐบาลใหม่ นั่นหมายความว่า กกต.ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ นี่คือความแตกต่าง

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสถานะได้เปรียบผู้เสนอตัวในตำแหน่งนายกฯ จากทุกพรรคอยู่แล้ว เพราะยังไม่ทันเลือกตั้งก็มีเสียงส.ว.ถึง 250 เสียงอยู่ในมือ

ถึงแม้การลาออกจะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ก็เป็นเรื่องของ “จริยธรรมทางการเมือง” ที่ควรยึดถือปฏิบัติ เช่นเดียวกับ 4 รัฐมนตรีที่ไปเป็นแกนนำพรรคการเมือง

“แม้จะปฏิเสธเรื่องสืบทอดอำนาจ แต่ร้อยคำพูดไม่เท่าหนึ่งการกระทำ พล.อ. ประยุทธ์ต้องกล้าเสียสละ ต้องกล้าเข้าสู่สนามการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและยุติธรรมต่อคนอื่น” นายจตุพรกล่าว

ถึงจะเป็นข้อเรียกร้องที่มีเหตุมีผล แต่ไม่น่าจะใช้ได้กับรัฐบาล คสช. ที่แกนนำยืนยันว่าจะอยู่ในอำนาจเต็มต่อไป ไม่มีการลาออก ไม่มีการปรับครม.ใดๆ ทั้งสิ้น

ล่าสุดผลจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธานหารือร่วม ระหว่างคสช. รัฐบาล และกกต. กับตัวแทนพรรคการเมือง 75 พรรค จากที่เชิญไปทั้งหมด 97 พรรค

พรรคการเมืองที่ไม่มาร่วมประชุม ส่วนใหญ่เป็นพรรคไม่เห็นด้วยกับการสืบต่ออำนาจ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

โดยมองว่าสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ปัจจุบันคือ “ผู้เล่น” ที่มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งโดยตรง จึงไม่สมควรมาทำหน้าที่เป็น “หัวหน้ากรรมการ” กำหนดข้อแข่งขันเสียเอง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาล กล่าวถึงผลการประชุมว่า ได้มีการชี้แจงกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป

รวมถึงพูดคุยในกรอบเวลากว้างๆ ไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562 ขณะที่พรรคการเมืองมีข้อสังเกตหลายเรื่อง ซึ่งนายกฯ และกกต.จะรับไปพิจารณาดำเนินการเท่าที่ทำได้ จากการหารือยืนยันว่า

การเลือกตั้งยังเป็น 24 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนวันปลดล็อกนั้น เมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ คสช.จะประชุมพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าวันปลดล็อกจะอยู่ภายในเดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ในการประชุมครม.อังคารที่ผ่านมา ได้รับทราบร่างพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีเนื้อหา 2-3 เรื่อง เช่น การประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งกกต.จะเป็นผู้พิจารณาวันที่เหมาะสม ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ขณะที่นายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย เผยว่า จะมีพ.ร.ฎ.การเลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค.2562 เนื่องจากนายกฯ อยากให้ทุกฝ่ายได้ฉลองปีใหม่ก่อน

หลังจากประเทศ “ลอยคอ” มานาน ก็ถึงวันประชาชน“รอคอย”

หากไม่มีข้อขัดข้องทางเทคนิคใดๆ เกิดขึ้นอีกนับจากนี้ไปอีก 70 กว่าวัน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ อย่างแท้จริง

รายงาน-9ธค61.tif

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน