บทบรรณาธิการ : ความจริงเหลื่อมล้ำ

บทบรรณาธิการ : ข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของซีเอส โกลบอล เวลธ์ 2018 ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกจริงหรือไม่ เป็นการยกข้อมูลตัวเลขออกมาโต้แย้งกันอย่างน่าติดตาม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า ข้อมูลซีเอส โกลบอล เวลธ์ ไม่อาจจะสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้ทั้งหมด เพราะใช้ฐานข้อมูลตั้งแต่ปี 2549

พร้อมกันนี้ยังยกค่าสัมประสิทธิ์จีนี ว่าไทยมีระดับความเหลื่อมล้ำไม่แตกต่างมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างอังกฤษ หรืออเมริกา

รวมถึงรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การยกตัวเลขของอีกฝ่าย ว่าด้วยการฝากเงินของประชาชนกับธนาคารพาณิชย์เอกชน เป็นมุมมองที่น่าสนใจ

ในจำนวนเงินฝาก 98.7 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 12.7 ล้านล้านบาทนั้นพบว่า บัญชีที่มีเงินฝากจำนวนเกิน 10 ล้านบาทมีอยู่ 124,545 บัญชี หรือร้อยละ 0.13 ของทั้งหมด แต่ยอดเงินฝากรวมสูงถึง 6.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 50.4 ของเงินฝากทั้งหมด

ถ้านับบัญชี 1 ล้านบาทขึ้นไป พบว่ามี 1.49 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 1.5 มียอดเงินฝากรวมสูงถึง 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77 ของเงินฝากทั้งหมด

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะบอกอะไรไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สะท้อนภาพที่สอดคล้องกับการรับรู้ในชีวิตประจำวันของประชาชน

ยังมีตัวเลขอื่นๆ อีกมากที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม รวมถึงข่าวการจัดอันดับมหาเศรษฐีหุ้นของไทย ที่แต่ละรายถือครองหุ้นเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้าน

อีกทั้งแชมป์ของการจัดอันดับครั้งนี้ยังสร้างสถิติใหม่ว่าในหมู่เครือญาติถือครองหุ้นรวมกันแล้วทะลุ 1 แสนล้านบาท

ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมความเหลื่อมล้ำทาง โอกาสอื่นๆ ที่ถ่ายทอดและตกค้างมาจากยุคอดีตที่สังคมยังมีชนชั้นและระบบไพร่ทาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจริง

เหมือนกับการรำลึกว่าวันนี้ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยฉีกรัฐธรรมนูญมากครั้งติดอันดับโลก

หากตัดทิ้งหรือมองข้ามเรื่องนี้ จะยิ่งทำให้ข้อเท็จจริงมีความเหลื่อมล้ำต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน