คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สุนทรพจน์ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นที่จับตาของทั่วโลก

ด้วยนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ชูขึ้นเพื่อหวังทวงคืนความยิ่งใหญ่ของอเมริกากลับมา

ในความเห็นของนักวิชาการมองในมุมเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งความเห็นจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

สมชัย ฤชุพันธุ์

ประธานอนุกมธ.เศรษฐกิจการเงินการคลัง สปท.

การที่นายทรัมป์ย้ำหลักการว่าสหรัฐต้องมาที่หนึ่งและ ผลประโยชน์ของสหรัฐต้องมาก่อน คิดว่าน่าจะไม่กระทบอะไรมากต่อไทยเพราะว่านโยบายของเขามุ่งต่อต้านจีนและเม็กซิโก และมุ่งนำเงินทุนกลับประเทศ นำโรงงานอุตสาหกรรมกลับประเทศ

แต่ของไทยผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐซึ่งส่วนมากเป็นสินค้าที่สหรัฐทำไม่ได้ เช่น สินค้าเกษตร ประมง อาหารทะเลและพวกวัตถุดิบอุปกรณ์เครื่องยนต์ จึงคิดว่านโยบายของทรัมป์ไม่น่าจะกระทบอะไรกับประเทศเรามาก

นอกจากนั้นทรัมป์ยังประกาศว่าจะถอนออกจากทีพีพี กับ 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นปัญหาที่สหรัฐต้องทำกับประเทศอื่นในโลก ซึ่งเรายังไม่ได้ตัดสินใจร่วมใน ทีพีพี ก็ไม่กระทบอะไร แต่เวียดนามเข้าร่วมไปแล้ว เมื่อสหรัฐไม่เอากลุ่มทีพีพีที่มีเวียดนามด้วย ก็เท่ากับไม่เอา เวียดนามด้วย อาจทำให้เราได้เปรียบ

แต่ปรากฏว่า สิ่งที่เราส่งออกไปสหรัฐเขาไม่มี และสิ่งที่สหรัฐทำมุ่งกระทบและกีดกันส่งออกจีนมากกว่า โดยตั้งเป็นกำแพงภาษีกับจีนและเม็กซิโก ที่มีการผลิตสินค้ามากและส่งเข้าไปยังตลาดสหรัฐ

ส่วนเงินที่จะเอาให้ไหลกลับสหรัฐก็ไหลกลับไปก่อนหน้านั้นแล้ว เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน และจริงๆ พันธบัตรไทย คนไทยถือเป็นส่วนมาก ชาวต่างชาติถือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ พันธบัตรมาเลเซียต่างชาติถือ 40 เปอร์เซ็นต์ พันธบัตรอินโดนีเซีย ต่างชาติถือ 50 เปอร์เซ็นต์

การส่งออกของไทยก็ถือว่ากระทบน้อยจากนโยบายดังกล่าวเพราะไทยผลิตสินค้าที่สหรัฐไม่มี แม้แต่แรงงานไทยก็กระทบน้อยเพราะแรงงานไทยที่ไปสหรัฐส่วนมากไปนานแล้วก็ได้สัญชาติไปแล้ว ส่วนแรงงานรุ่นใหม่ไม่ค่อยมี เพราะขณะนี้ส่วนมากไปประเทศใกล้เคียงมากกว่า

ด้านภาษีมีการลดภาษีลงมาก จะทำให้การประกอบธุรกิจในสหรัฐคุ้มทุนเพราะเสียภาษีน้อย แต่ในสหรัฐการดำรงชีวิตสูง ค่ากินอยู่สูงก็ยากที่จะแข่งกับเอเชีย ดังนั้น การลงทุนจะไหลมาลงที่เอเชียแล้วส่งกลับไปให้สหรัฐ ดังนั้นการตั้งกำแพงภาษีอย่างนี้จะกระทบกับคนสหรัฐเองที่ต้องซื้อของแพง

แต่ผู้ส่งออก-นักลงทุนไทยต้องเตรียมรับมือ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำแต่มีขีดความสามารถ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปมากตามกระแสทั้งโลก ไทยก็สกัดไม่ได้ จะได้รับผลกระทบและกระทบทั่วโลก

วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐแสดงท่าทีเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางภูมิภาค การจัดการกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ

และพยายามผลักดันเรื่องการค้าเสรี แต่ทรัมป์บอกว่าการค้าเสรีไม่ได้ทำให้สหรัฐได้ประโยชน์ เพราะทำให้การลงทุนออกนอกประเทศ การจ้างงานออกนอกประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่ทรัมป์ทำคือใครมีปัญหากับสหรัฐก็จะถูกกีดกัน เอาประโยชน์ของสหรัฐเป็นที่ตั้ง แนวความคิดเรื่องของโลกเสรี แบบอื่นๆ ก็คือการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ซึ่งทรัมป์มองว่ามุสลิมเป็นภัยของสหรัฐ ก็จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศโดยง่าย

ดังนั้น ภาพรวมสหรัฐจะไม่สนใจประโยชน์นอกประเทศแต่จะสนใจ ผลประโยชน์ในประเทศ แต่หากผลประโยชน์ไหนที่จำเป็นและต้องเกิดขึ้นนอกประเทศจริงๆ ก็คิดบนฐานที่ไม่ใช่ความเท่าเทียม แต่ขึ้นอยู่ว่าสหรัฐจะได้ผลประโยชน์สูงสุดจากความสัมพันธ์นั้นหรือไม่

หากมองถึงผลกระทบที่มีต่อไทยหลายคนอาจมองว่าสหรัฐจะไม่สนใจปัญหาทาง การเมืองในภูมิภาคอื่นอีกต่อไป แต่ต้องเข้าใจว่าสหรัฐมองว่าจีนเป็นปัญหาในภูมิภาค ฉะนั้นนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้าของสหรัฐที่จะมีผลกับจีนซึ่งดูไม่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อเราได้

แม้ว่าเขาจะไม่สนใจระบบการเมืองของเรามากแต่ในแง่เศรษฐกิจก็อาจมีผลกระทบเกิดขึ้นได้

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ ทรัมป์ สามารถปรับเปลี่ยนจุดยืนของตัวเองได้ตลอด แม้ตัวเองจะบอกว่าไม่สนในเรื่องนอกประเทศแต่ถ้าถึงจุดที่มีผลประโยชน์ ทรัมป์ก็จะนึกถึงผลประโยชน์ของสหรัฐว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

หากคำนวณแล้วเขาได้ผลกระทบก็จะควักทุกมาตรฐานขึ้นมา เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องต่างๆ ออกมาใช้ทั้งหมด รวมถึงการกีดกันทางการค้า เราต้องดูทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมว่าคืออะไร

แต่ด้านบวกอาจเป็นไปได้ว่าทรัมป์อาจจะไม่สนในเรื่องประชาธิปไตยเลย แต่สนใจเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐเหนือกว่าจีน ทรัมป์ก็อาจเข้ามาให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นก็ได้

อาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคี พยายามที่จะสานสัมพันธ์เพื่อโดดเดี่ยวจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของตัวเองให้มากขึ้นก็เป็นไปได้

ส่วนนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับสหรัฐในยุคของทรัมป์ จะมองประเทศอะไรเป็นปัญหา เช่น จีน ที่ทรัมป์พูดถึงบ่อยๆ แม้จะไม่ได้บอกว่าจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงโดยตรง แต่ในทางเศรษฐกิจสหรัฐก็มองจีนเป็นคู่ขัดแย้งหรือ คู่แข่งด้วยเช่นกัน

ต้องมองภาพให้ชัดจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ เพราะช่วง 3 ปีนี้ เรามีนโยบายเข้าหาจีนมากขึ้นจึงต้องคอยดูภาพการเคลื่อนไหวของสหรัฐตรงนี้ให้ดี เราควรรักษาความสัมพันธ์กับจีนและเชื่อมความสัมพันธ์กับสหรัฐให้ดี ก็จะเกิดประโยชน์กับไทยในทุกมิติ

การเตรียมตัวของไทยถึงเวลาที่เราต้องมองทุกมิติเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในฐานะที่เป็นประเทศเล็กๆ และไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้ง โดยตรง

จรัญ มะลูลีม

คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์

ตั้งแต่ช่วงการหาเสียง การประกาศผลและการกล่าวสุนทรพจน์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ ปรับเปลี่ยนท่าทีและจุดยืนต่อนโยบายหลายครั้ง

เช่น นโยบายสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด การลักลอบเข้าเมือง ก็ไม่มีการพูดถึงในวันสาบานตน แต่กลับแสดงท่าทีว่าอยากพูดคุยกับประธานาธิบดีเม็กซิโก เพื่อหารือต่อแนวทางการแก้ปัญหา

จุดยืนที่ทรัมป์ยังคงยืนกรานและย้ำชัดเช่นการเดินหน้าปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอส ในตะวันออกกลาง ส่วนมาตรการ คุมเข้มการเข้าออกสหรัฐของชาวมุสลิม ที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงก่อนเลือกตั้ง ทรัมป์ชี้แจงว่าไม่รวมถึงชาวอินโดนีเซียและอินเดีย เนื่องจากเป็นมิตรประเทศ

ทว่าแนวคิดที่สุ่มเสี่ยงจะบานปลายกลายเป็นสงครามได้คือ คำประกาศผลักดันให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพราะนครเยรูซาเลมเป็นเมือง ที่สำคัญของยูดายและมุสลิม หากดำเนินการ ก็ส่อจะสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้น จนนำไปสู่การต่อต้าน

ในวันสาบานตนก็เกิดกระแสประท้วงจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มสตรี ที่ไม่เอาด้วยกับทัศนคติและพฤติกรรมของทรัมป์ที่ดูถูก ลวนลามผู้หญิง ตลอดจนคัดค้านแนวคิดต่อต้านมุสลิม แกนนำกลุ่มสตรีที่ออกมาต้านบางรายสวมฮิญาบขึ้นเวทีปราศรัย

ขณะที่โลกมุสลิมบางชาติก็แสดงท่าทียินดีต่อการขึ้นมาของทรัมป์อย่าง ซาอุดี อาระเบีย อียิปต์ และซีเรีย เพราะเชื่อว่าเขาสามารถแก้ปัญหาการขยายอิทธิพลของก่อการร้ายและกลุ่มเคลื่อนไหวที่ใช้หลักศาสนามาเป็นตัวขับเคลื่อนได้

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าในช่วงนี้จะอิงไปทางจีนและรัสเซียมากขึ้น แต่ก็คงไม่ได้รับผลกระทบจากผู้นำสหรัฐคนที่ 45 มากนัก เนื่องด้วยความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศอันยาวนานกว่า 180 ปี ที่มีต่อกัน

เป็นพันธมิตรร่วมรบในลาวและเวียดนาม ช่วงสมัยสงครามเย็น และที่ผ่านมาก็มี นโยบายการต่างประเทศควบคู่กับสหรัฐ มาอย่างยาวนาน แตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

อัทธ์ พิศาลวานิช

ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

ส่วนตัวไม่ คิดว่าทรัมป์จะสามารถดำเนินการนโยบายได้ทุกอย่างตามที่หาเสียงไว้ได้ เพราะยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น นโยบายอเมริกันต้องมาก่อน ที่ต้องการเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ ซื้อสินค้าสิ่งของที่ผลิต รวมถึงลงทุนภายในประเทศ ซึ่งอาจต้องดึงโรงงานของสหรัฐกลับประเทศนั้นมองว่าเป็นไปได้ยาก

เพราะการที่ดึงโรงงานอุตสาหกรรมที่เคยลงทุนในต่างประเทศ เช่น ไทย จีนและประเทศอาเซียน เพราะแรงงาน มีจำนวนมากและราคาถูก ขณะที่บางอุตสาหกรรมสหรัฐก็ไม่มีการผลิตมาก่อนจึงเป็นการยากที่จะมาเริ่มต้นลงทุนใหม่

หากดึงกลับไปหมดก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการของสหรัฐเองต้องเผชิญกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเอง ซึ่งอาจได้ไม่คุ้มเสีย

รวมทั้งการที่จะเก็บภาษีสินค้าจากจีนเป็น 45% นั้นก็มองว่าสหรัฐมีช่องทางที่จะทำได้ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ ที่จะทำเพราะจะทำให้คนสหรัฐจ่ายเงินซื้อสินค้าที่นำเข้าจากจีนแพงขึ้น เพราะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นสหรัฐนำเข้าจากจีนถึง 21.5% และจีนครองตลาดเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ในสหรัฐมากสุด หากสหรัฐยังเดินหน้าจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ก็ต้องมาดูว่าจะขึ้นทั้งหมดหรือบางส่วน

อย่างไรก็ตามก็จะมีผลดีต่อไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ในแง่โรงงานของจีนที่เคยผลิตสินค้าในจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐก็จะย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี

รวมทั้งผู้นำเข้าจากสหรัฐก็อาจเลือกที่จะทำการค้าตรงกับ ผู้ส่งออกไทยแทนการทำการค้ากับผู้ประกอบการจีน ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อเอกชนไทย โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ไม้ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่สหรัฐเคยนำเข้าจากจีนก็จะเป็นโอกาสของไทย ดังนั้นคิดว่ารัฐบาลควรเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ (เอฟทีเอ) เพื่อให้เอกชนไทยได้รับโอกาสนี้

ส่วนตัวมองว่าทรัมป์อาจไม่สามารถทำได้ทั้งหมดตามที่ประกาศไว้ เพราะหลายส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งในและ ต่างประเทศ ดังนั้นทุกอย่างคงไม่ราบรื่นนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและพัฒนามาตรฐานให้พร้อมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและยางพารา เพื่อจะได้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปสหรัฐได้โดยตรง

และจากมาตรการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอาจจะส่งผลให้จีนย้ายฐานการผลิตมายังไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อใช้เป็นฐานสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ สร้างช่องทางส่งออกไปยังสหรัฐ เช่นเดิม หากเป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นผลดีต่อไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน