เปิดชีวิต เด็กหนุ่มที่เคยยึดคำว่า “ลูกผู้ชาย ฆ่าได้หยามไม่ได้”

ปัจจุบันปัญหาการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นไทย นับวันยิ่งมากขึ้น ผมมักจะเห็นข่าววัยรุ่นเป็นกลุ่มใช้อาวุธรุมทำร้าย ยกพวกตีกัน หรือแม้กระทั่งใช้อาวุธปืนยิงเพื่อนนักเรียนด้วยกัน พฤติกรรมเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียในสังคมและเป็นผลกระทบต่อตัวเยาวชนเองด้วย

ผมได้รู้จักนักศึกษาชายคนหนึ่ง ชื่อ ‘เน็ท’ ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เดิมพ่อเขาทำธุรกิจ แต่วันหนึ่งกลับประสบปัญหาจนล้มละลาย จากครอบครัวที่มีฐานะ เปลี่ยนเป็นมีหนี้สินหลายสิบล้าน ต่อมาศาลสั่งให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย และถูกยึดทรัพย์สิน

พ่อเริ่มดื่มเหล้าหนักและมีเรื่องชกต่อยกับคนอื่น ไม่เว้นกระทั่งตำรวจ นักศึกษาคนนี้ต้องกลายเป็นที่ล้อเลียนในหมู่เพื่อน เขาจึงเกลียดพ่อมาก ใจที่ปิดกั้นทำให้ฟังคำพูดของพ่อไม่ได้ จนเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นชกต่อยกับพ่อของตัวเอง เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดี เขาจึงไม่มีความสุขที่อาศัยอยู่กับคนในครอบครัว

ในช่วงมัธยม เขาเริ่มแสวงหาความสุขโดยออกไปใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนข้างนอก และเห็นว่าเพื่อน คือคนที่เข้าใจเขามากที่สุด แม้จะคบกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ผ่านไปสักพักก็ไม่คิดว่าการใช้ชีวิตแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิด

ออกจากกรอบ

แค่คิดว่านี่คือ “การใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชาย” เขาทำตัวเป็นอันธพาล พกอาวุธอันตราย ก่อเหตุทำร้ายร่างกายทั้งในและนอกโรงเรียน จนทางโรงเรียนต้องเรียกผู้ปกครองหลายครั้ง โดยไม่ได้สนใจว่าใครจะเดือดร้อนและไม่รับรู้ว่าครอบครัวเป็นห่วงเขามากแค่ไหน

ครั้งหนึ่งเมื่อคู่อริโรงเรียนตรงข้าม วิ่งตรงเข้ามาหาเขาพร้อมมีดยาว ช่วงที่อันตรายเข้ามาถึงตัว แม้ใจจะเกิดความกลัว แต่เขากลับยืนยันและบอกตัวเองว่า “ถอยไม่ได้ ผมเป็นลูกผู้ชาย” เพราะ “ลูกผู้ชาย ฆ่าได้ หยามไม่ได้” แต่ครั้งนั้นเขาโชคดีที่หนีเอาชีวิตรอดมาได้

ช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ชั้นปี 1 เขาได้พบกับโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติที่ผมดูแลอยู่ ตอนนั้นเขาได้เริ่มคิดว่า จะใช้ชีวิตแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่ เขามีความสุขกับชีวิตแบบนี้จริงหรือ? เมื่อคำตอบในใจคือ “ไม่” เขาจึงเริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเอง เน็ทจึงตัดสินใจไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศอเมริกา 1 ปี

แม้จะใช้ชีวิตในฐานะอาสาสมัครอยู่ที่อเมริกา เขาก็ไม่มีใจจะทำเพื่อคนอื่น เขาสนใจเพียงว่า ตัวเองต้องการอะไร และก่อปัญหามากมาย มีเรื่องชกต่อยกับอาสาสมัครชาติอื่นและยังคงใช้กำลังในการแก้ปัญหา เพราะเชื่อว่าตัวเองเก่งและถูกต้องที่สุด จนผู้ดูแลจะส่งเขากลับประเทศไทยตั้งแต่ 3 เดือนแรก แต่พอเขาคิดว่า ตัวเองจะต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม จึงเลือกที่จะไม่กลับ และมีโอกาสฝึกฝนผ่านกิจกรรมที่นั่น

ครั้งหนึ่งในช่วงที่อากาศหนาวเย็นมาก เขาโทรกลับไปที่บ้านเพื่อขอเงินพ่อมาซื้อเสื้อกันหนาวและรองเท้าใหม่ แต่นั่นเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ประสบภัยน้ำท่วมหนัก พ่อของเขาติดอยู่ในบ้านออกมาไม่ได้ ครอบครัวของเขายากลำบากมาก เน็ทรู้สึกเสียใจที่ตัวเองไม่สามารถทำอะไรเพื่อพ่อได้ และเริ่มมองเห็นว่าที่ผ่านมาพ่อกับแม่ยากลำบากเพื่อดูแลเขาจนถึงตอนนี้

หลังจากนั้นเน็ทถูกส่งไปประจำอยู่เมืองหนึ่ง คนที่นั่นไม่ได้มีเงินมากมาย แต่พวกเขามีใจที่เสียสละแบ่งอาหารและขนมของลูกๆ ให้อาสาสมัครที่อยู่ด้วย แม้กระทั่งคนที่ดูแลเขายังต้องขับรถยนต์ที่กระจกแตกออกไปทำงาน เพราะไม่มีเงินซ่อม

ช่วงเวลานั้นเน็ทเริ่มคิดถึงชีวิตมากขึ้น เขานึกถึงความสะดวกสบายที่ประเทศไทยซึ่งเขาไม่เคยเห็นคุณค่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับคนอื่น ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยจิตใจกัน แม้ภายนอกจะมีความยากลำบาก แต่กลับทำให้เขาได้มีความสุขจากในใจ

เน็ทได้เรียนรู้ว่า มันผิดที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนเข้มแข็งและใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชาย ที่จริงแล้วมันเป็นแค่การปกปิดจิตใจที่อ่อนแอ และมีปัญหาไว้ข้างใน เขาไม่เคยสนใจใคร จึงใช้ชีวิตวันต่อวันโดยไม่คิดถึงอนาคต

ชีวิตอาสาสมัครของเขาไม่ใช่การไปช่วยเหลือคนอื่น แต่เขาได้รู้จักการรับความช่วยเหลือ ได้รับการแก้ไขจิตใจ ได้มีโอกาสมองลึกลงไปถึงใจพ่อแม่ที่อดทนและยากลำบากเพื่อลูกที่ไม่ดีอย่างเขา

เขามองออกจากกรอบความคิดของตัวเอง สัมผัสจิตใจคนรอบข้างได้มากขึ้น เมื่อกลับมาที่บ้านก็ได้เปิดใจคุยกับพ่อได้อย่างอิสระ ความสุขจึงเกิดขึ้นในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน