หากกรณี “ประชามติ”ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ตก เป็นประเด็นร้อน

ทำให้อันดับ”ความโปร่งใส”ของไทยหล่นร่วง
น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า กรณี “วัดพระธรรมกาย” จะได้รับการหยิบยกขึ้นมา “ถกแถลง” หรือไม่
แม้จะมี “หมายจับ” เป็น “เครื่องมือ”
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ กรณี”ประชามติ”ที่ดำเนินอย่างอึกทึกครึกโครมก็มี “เครื่องมือ”เหมือนกัน
นั่นก็คือ ประกาศและคำสั่งคสช.
ทำให้สามารถนำตัว นายวัฒนา เมืองสุข เข้าไปปรับทัศนคติในมทบ. 11 ในเดือนเมษายน 2559
ทำให้สกัด “ศูนย์ปราบโกง”ได้
ประกาศและคำสั่งคสช.ถือเป็น “กฎหมาย” อย่างแน่นอน แล้วเหตุใด”องค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศ”จึงเห็นว่า”ประชามติ”เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 “ไม่โปร่งใส”
ลดอันดับภาพลักษณ์ประเทศไทยไปอยู่ 101 จาก 176

ต่อกรณี”วัดพระธรรมกาย” ไม่ว่าดีเอสไอ ไม่ว่าตำรวจอาจชื่นชมกับปริมาณแห่งคดีที่มากกว่า 170 คดี
แต่ก็ไม่แน่ว่าจะกลายเป็น “ปัญหา” หรือไม่
เอากันจากกรณีที่มีการไปติดประกาศให้ถือว่า “กำแพง”วัดเป็น “ของกลาง”
ให้ถือว่า “รั้ว”เป็น “ของกลาง”
และลงความเห็นอย่างอึกทึกครึกโครมว่า “โบสถ์”และ”วิหาร”ภายในวัดก็เป็น “ปัญหา”
ไม่สามารถ “ใช้งาน” ได้เพราะสร้างอย่าง”ผิดกฎหมาย”
เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นมุมมองเดียวกันระหว่าง “ดีเอสไอ”และ”ตำรวจ”กับ “จังหวัด”หรือ”ท้องถิ่น”
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองของ “ปทุมธานี”
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายท้องถิ่นอย่าง เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล
ตรงนี้แหละที่อาจจะ “ล่อแหลม”

ขณะเดียวกัน ท่าทีของ”วัดพระธรรมกาย”ต่อฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น กับต่อ “ตำรวจ”และ”ดีเอสไอ”
ก็มีความแตกต่างกัน
ทั้งๆที่ “ดีเอสไอ”และ”ตำรวจ”มี “หมายจับ”และ”หมายค้น”อยู่ในมือ
แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในวัดได้โดยราบรื่น
ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ว่าโยธาธิการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่ว่าอบต.
สามารถเดินเข้าวัดได้อย่างสะดวก ง่ายดาย
สามารถเข้าตรวจค้นไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ไม่ว่าจะเป็นวิหาร ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ทุกแห่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ต่างกัน
เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ อาจทำให้”วัดพระธรรมกาย”มีคดีเพิ่มขึ้น แต่ต่อสายตา”ต่างประเทศ”จะมองอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน