คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แม้ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอให้ใช้นโยบาย 66/23 เพื่อสร้างความปรองดองจะถูกปัดทิ้งไปเด็ดขาดเลยหรือไม่ หรือจะนำมาปรับใช้ในกระบวนการพ.ศ.นี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยคนในสังคมก็ได้รู้จักนโยบายดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

แม้นโยบาย 66/23 ถูกมองว่าอยู่คนละยุคสมัยปัจจุบัน และมีบริบทต่างกัน แต่การหยิบนโยบายนี้มานำเสนอใหม่ ทำให้ผู้คนได้รู้ว่าความขัดแย้งและแตกแยกทางความคิดในอดีตมีหนทางที่คลี่คลายได้

หลังจากนโยบาย 66/23 เคยทำให้สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปียุติลงได้

อีกทั้งได้รู้ว่า วิธีการใช้การเมืองนำการทหารนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างน่ายินดี

สําหรับในพ.ศ.นี้ คณะทำงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุว่า แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกทักท้วง และคณะทำงานต้องรับฟังและพิจารณา แต่ไม่ใช่ว่าจะยุติการศึกษา

ถึงอย่างไรแล้วจะนำนโยบายดังกล่าวรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อเสนอเป็นข้อเสนอและมาตรการแก้ปัญหาส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

โดยคำนึงถึงเรื่องความสามัคคี สันติสุขของคนในชาติและสังคมไทยเป็นที่ตั้ง ยึดหลักเมตตาธรรม ยุติความเคียดแค้นชิงชังโดยการให้อภัยกัน

พร้อมยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม ใช้กฎหมายและปฏิบัติกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

อีกทั้งต้องสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลด้วย

เงื่อนไขของการคิดแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐบาลนั้น มีคำอธิบายเบื้องต้นว่าต้องการทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต และไม่ได้ยกเลิกโทษใคร

แม้แนวทางนี้จะมีเป้าหมายที่ดี แต่กลับยังไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ที่ผ่านมายังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกันอย่างไรในสภาวการณ์ที่ผู้คนถูกตีกรอบและควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นทั้งที่ไม่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในขณะที่ความปรองดองสามัคคีนั้นต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจอย่างจริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่ถูกบังคับหรือจำยอมให้ถูกควบคุม ดังเช่นที่เคยใช้ในนโยบาย 66/23

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน