คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เสนอให้ยึดคำสั่งที่ 66/23 เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโมเดลสร้างปรองดอง

นักวิชาการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีความเห็น ดังนี้

1.สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะที่เคยถูกจับกุมสมัยเป็นนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต่อมามีการประกาศนิรโทษกรรมทุกฝ่าย และตามมาด้วยคำสั่งที่ 66/23

ได้คุยกับเพื่อนๆ หลายคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เดียวกัน ถึงวันนี้คิดว่าไม่มีข้อสงสัยแล้วว่า คำสั่งที่ 66/23 นอกจากจะช่วยยุติสงครามที่เกิดขึ้นในไทยระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยสู้รบกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแล้ว นัยที่สำคัญคือการนำมาสู่การปรองดอง และการปฏิรูปประเทศ

หัวใจสำคัญไม่ใช่แค่ทำให้สังคมไทยกลับสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่แค่การสลายขั้วการเมือง แต่คำสั่งที่ 66/23 คือกุญแจที่นำไปสู่การปฏิรูปและเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศในยุคนั้น

หากผู้มีอำนาจในปัจจุบันบอกว่านโยบายดังกล่าวใช้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์วันนี้เป็นคนละสถานการณ์ ไม่แน่ใจว่าได้ย้อนศึกษาประวัติศาสตร์บ้างหรือไม่ และไม่แน่ใจว่ารับคำสั่งที่ 66/23 ไม่ได้ หรือรับตัวบุคคลที่จะได้รับผลจากแนวทางแบบคำสั่งที่ 66/23 ไม่ได้กันแน่

สถานการณ์วันนี้ไม่ได้มีกองกำลังติดอาวุธรบกันเหมือนสมัยช่วงเวลานั้น แต่ต้องยอมรับว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และผู้นำกองทัพสายพิราบขณะนั้นมีความใจกว้าง มองเห็นการลุกลามขยายตัวของสงครามอินโดจีนที่เข้ามายังไทย แต่ผู้มีอำนาจวันนี้ยังไม่ใจกว้างพอ

การอ้างว่าทุกขั้วขัดแย้งต้องปรองดองกันโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นการพูดอย่างเลื่อนลอย เพราะข้อเท็จจริงมีเงื่อนไขอยู่ ทั้งอารมณ์และความคิดของประชาชนในสังคมที่ขัดแย้งกันอยู่ไม่สามารถบอกให้หยุดคิดแล้วปรองดองกันได้โดยทันที

ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่การพูดเพื่อให้มีพื้นที่ข่าวไปวันๆ เท่านั้น

กลไกที่สำคัญนอกจากการประกาศนิรโทษกรรมและแนวทางแบบคำสั่ง 66/23 แล้ว สื่อมวลชนก็มีส่วนสำคัญมากเพราะเหตุการณ์สมัย 6 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์และวิทยุที่มีแนวคิดขวาจัดมีการปลุกระดมประชาชนให้โกรธเกลียดนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมีการเข่นฆ่าด้วยวิธีการอันป่าเถื่อน

สิ่งเหล่านี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากที่ทำให้คนเกลียดชังกันโดยไม่มีเหตุผล

ปัจจุบันสื่อหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลกที่กำลังเผชิญแนวคิดสุดโต่งของคนบางกลุ่ม ถ้าไทยไม่สร้างความคิดและนโยบายใหม่ๆ โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ โอกาสที่ความเกลียดชังจะขยายตัวเป็นความรุนแรงแบบในอดีตก็อาจเกิดขึ้นอีกได้

เพราะสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผู้นำทางทหารวันนี้ที่เคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตมาต้องรีบตระหนัก และกล้าที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อไม่ให้สังคมไทยหวนกลับไปแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

2.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล

เรื่องนี้การใช้แนวทางตามคำสั่ง 66/23 เป็นเพียงการเสนอกรอบแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือให้คณะกรรมการแต่ละชุดที่เคยศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง มานำเสนอ

จากนั้น คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.จะทำหน้าที่ประมวลผล แล้วออกเป็นข้อเสนอออกมา จึงเป็นเพียงประเด็นที่จะนำเสนอ แต่ยังไม่ได้เป็นประเด็นที่จะนำมาใช้

เพราะเวลาคุยกันมีทั้งเรื่องนิรโทษกรรม เรื่องการอภัยโทษ ซึ่งเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ยังไม่ได้เป็นมติของคณะอนุกรรมาธิการ และยังต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.จึงจะออกมาเป็นมติได้

สำหรับคำสั่งที่ 66/23 กับการนิรโทษกรรมมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนตัวจึงเห็นว่าหากใช้คำสั่งดังกล่าวต้องนำมาใช้หลังสุด หากทำตั้งแต่ต้นเรื่องการปรองดองจะไปไม่ได้ ต้องนำมาคิดไว้หลังสุด หมายความว่าต้องมีแผนปฏิบัติการเรื่องปรองดอง

เพราะหากทำตามคำสั่ง 66/23 เท่ากับย้อนกลับไปช่วงที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และยิ่งทำตามคำสั่ง 66/23 หมายถึงการนิรโทษกรรมทั้งประเทศ

คำถามที่ตามมาคือ เรื่องนี้เราจะนิรโทษกรรมทั้งประเทศหรือไม่ ถ้าหากทำทั้งประเทศจะรวมถึงปัญหาภาคใต้ด้วย ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันแต่ยังทำไม่ได้

มองว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีมาแล้ว แต่จะเป็นความขัดแย้งที่เริ่มใหม่ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมจะดีใจกันมาก ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจะต่อต้านมาก และเป็นที่มาของความขัดแย้งวาระใหม่

หากไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น ต้องชะลอไว้ก่อน ซึ่งเชื่อว่าทางรัฐบาลคงไม่หยิบยกมาใช้เป็นเรื่องแรก แม้แต่การอภัยโทษยังไม่มีการพูดถึงเลย

ส่วนปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน เห็นว่าวิธีแก้ปัญหา คือ ควรนำแผนปรองดองที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอมาเป็นจุดตั้งต้น แล้วค่อยถามภาคประชาชน และภาคการเมืองว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยในจุดไหนค่อยปรับปรุงแก้ไข และนำมาสู่แผนการปฏิบัติการที่ทำได้ทันที

วิธีนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยเพราะเกิดการยอมรับในแผนนี้

อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าควรนำผลการศึกษาจากคณะกรรมการทุกคณะที่ทำมา แล้วนำมาประมวลผลเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน

เพราะถึงเวลานี้ต้องเริ่มสู่การปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่กลับไปศึกษาอีก

3.พัฒนะ เรือนใจดี

รองอธิการบดี ม.รามคำแหง

ระหว่างสงครามเย็น ที่แบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสองขั้วระหว่างคอมมิวนิสต์และโลกเสรี ในสังคมไทยก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยึดถือแนวทางคอมมิวนิสต์ มีการหนีเข้าป่า จับอาวุธ เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ

จนในปี 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางอุดมการณ์ จึงนำไปสู่คำสั่งที่ 66/23 เปิดช่องให้กลุ่มผู้ก่อการมีทางเลือกวางอาวุธ ออกจากป่าโดยไม่มีคดีติดตัว ทำให้กลายเป็น “ไทยอาสาป้องกันชาติ”

ทว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้เป็นคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ และคนละเวลา สภาพปัญหาไม่ได้มีความสอดคล้องกัน จนสามารถนำแนวทางเดิมมาปรับใช้ได้

เพราะความขัดแย้งทุกวันนี้ลุกลามไปยังทุกมิติ ไม่เพียงแค่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)

แต่ยังมีมิติความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข เกษตร การเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียม

การปฏิเสธแนวทางดังกล่าวของคณะอนุกรรมาธิการการเมืองสปท.ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ผู้รับผิดชอบคณะกรรมการปรองดอง ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จึงมาถูกทาง

เพราะมาตราการ 66/23 ไม่อาจตอบโจทย์สภาพแวดล้อมทางการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบันได้

มันคงไม่ง่ายที่จะออกคำสั่งแล้วให้พล.อ.เปรมเดินทางไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อมอบประกาศนียบัตรให้ แล้วก็รับมอบปืนคืนจากกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ทว่าโจทย์สำคัญของป.ย.ป.ต่อการสร้างความปรองดองคือ ต้องเข้าใจปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง คู่กรณีที่จะเข้าร่วมการเจรจาต้องไม่จำกัดอยู่ในแง่มุมทางการเมือง แต่ต้องคำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วนด้วย

สำหรับหลักคิดการดำเนินการก็สามารถนำผลการศึกษาจากคณะกรรมการหลายชุดที่ใช้งบประมาณจัดทำกันจำนวนมากมาดำเนินการได้ แต่อาจต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยสอดคล้องต่อสถานการณ์

แต่ละรายงานการศึกษามีการจัดลำดับความสำคัญการทำงานไว้หมดแล้วว่าควรเริ่มจากระดับเล็กก่อน เมื่อตกลงกันได้มากขึ้น ค่อยไปแตะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพื่อหาทางออกร่วมกันว่าจะไปจบที่การนิรโทษกรรมหรือไม่

ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องให้ป.ย.ป.กำหนดปฏิทินการทำงาน และรายงานผลความคืบหน้าของการทำงานให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินว่ามาถูกทางหรือไม่ ทั้งยังเพื่อแสดงความจริงใจต่อโรดแม็ปเลือกตั้งด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้จะนำเรื่องนี้มาต่อรองเลื่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ายังปรองดองไม่เสร็จก็รอเลือกตั้งไปก่อน

แต่การคืนการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วให้กลไกทางประชาธิปไตยเป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งก็สามารถทำได้เช่นกัน

4.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป

ประธานอนุกรรมการศึกษา

การเสนอโมเดล 66/23 มาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันคงไม่น่าใช้ได้ จริงๆ แล้วต้องดูมูลเหตุว่าความขัดแย้งในยุคนี้เกิดจากอะไร สมัยก่อนคนไทยเป็นอย่างนี้หรือไม่ที่แบ่งขั้ว แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย คำตอบคือไม่

สาเหตุความขัดแย้งเป็นเพราะความไม่ยุติธรรมในทุกรูปแบบใช่หรือไม่ ที่ประชาชนหรือแม้กระทั่งข้าราชการเองที่ไม่ได้รับความยุติธรรม

ปัญหาความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉะนั้นหากไม่แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมในทุกขั้นตอนหรือไม่แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องความปรองดองได้

ที่ผ่านมา 10 กว่าปี มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมากมาย และคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็มักหาความชอบธรรมให้กับตนเอง เพื่อที่จะช่วยตัวเองในการทุจริต หรือช่วยตนเองในการปกปิดความผิด พอสิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะวนไปสู่ความไม่ยุติธรรมที่ทุกฝ่ายได้รับ

ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้าน ขณะที่คนทุจริต ก็ต้องหาทุกวิถีทางสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง สร้างคนของตนเองขึ้นมาด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อมา ปกปิดความผิด เหมือนกับการจ้างคนมาร้องไห้หน้าศพ ก็ไปกระทบกับระบบของข้าราชการ หรือนักการเมือง ในการแต่งตั้งโยกย้าย

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดพลังขึ้นมาสองกลุ่ม ออกมาเผชิญหน้ากัน

ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นได้ทุกส่วนงาน สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ ต้องทำในส่วนนี้ให้จบ อย่าไปยุ่งกับอดีตที่ผ่านมา เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นคนละอย่างกัน

สำหรับผลสรุปของคณะกรรมการปรองดองในชุดต่างๆ ที่ผ่านมา มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน และอย่าไปมองเรื่องการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะไม่สามารถช่วยลดปัญหาหรือทำให้มีความปรองดองกันได้ เนื่องจากปัญหาในเรื่องความไม่ยุติธรรมและการคอร์รัปชั่นยังคงอยู่

การนิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้น ก็เหมือนนิวเคลียร์ที่รอการระเบิด

เพราะต้นตอของปัญหายังถูกอัดแน่นโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน