ไม่ว่ากรณี “รองอธิบดี”ถูกตำรวจจับที่ญี่ปุ่น ไม่ว่ากรณี”ผู้อำนวย การเขต”เสียชีวิตเพราะการออกกำลังกาย

เป็น “เรื่องส่วนตัว”แน่นอน
ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลระดับ “รองนายกรัฐมนตรี” หรือรัฐมนตรีในฐานันดรแห่ง “หม่อมหลวง”มาอธิบาย
ผู้คนก็ “เข้าใจ”
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบจากจุดแห่งความเป็น “ส่วนตัว”นั้นก็ไม่สามารถแยกขาดจากความสัมพันธ์กับเรื่อง “ส่วนรวม”ได้
เพราะตำแหน่ง”รองอธิบดี”มิได้อยู่ๆก็ได้รับการแต่งตั้ง หากแต่มีรากฐานความเป็นมา
เช่นเดียวกับกรณีของ”ผู้อำนวยการเขต”
คำถามที่ตามมาก็คือ เหตุปัจจัยอะไรทำให้ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
คำตอบคือ “การออกกำลังกาย”
ตรงนี้แหละที่ทำให้ปัจจัย “ส่วนตัว” กลายเป็นเรื่อง “ส่วนรวม” และมีความสำคัญ
ทำให้ “สังคม”ให้ความสนใจ

คำถามหลัง”รองอธิบดี”ถูกจับกุมก็คือ ทำไมบุคคลระดับนี้มีพฤติการณ์อย่างนี้ด้วย
สังคมมองว่า “ไม่งาม”
นั่นก็มาจากเชิงอรรถแห่ง “บุคคลระดับนี้” ย่อมมีอะไรที่เหนือกว่าคนโดยปรกติ
หรือคนที่มิได้เป็น “รองอธิบดี”
เช่นเดียวกับ การเสียชีวิตของ “ผู้อำนวยการเขต”จากการร่วมออกกำลังกายในวันพุธ
ที่เป็นเช่นนี้เพราะมี”โรค”ประจำตัวอยู่แล้วอย่างเด่นชัด
กระนั้น คำถามก็พุ่งไปยัง “การออกกำลังกาย”อันเป็นนโยบายที่ออกมาจาก “ส่วนกลาง”
เหมาะสมหรือไม่ใน”เวลา”ราชการ

ไม่ว่าเรื่องราวของ “รองอธิบดี” ไม่ว่าเรื่องราวของ”ผู้อำนวยการ” หากดำเนินไปเป็นปกติ
ไม่มี “เหตุ” ไม่มี “กรณี”
ก็ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ จุดใด ที่ญี่ปุ่นหรือในกทม.
แต่เมื่อใดที่ปรากฏสิ่งที่ “อ-ปรกติ”
แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมฉายจับ กระทั่งกลายเป็น”ข่าว”อึกทึกครึกโครม
ที่คิดว่าเป็น”ส่วนตัว”ก็มีลักษณะ”สาธารณะ”
ยิ่งกว่านั้น แสงแห่งสปอตไลต์ยังฉายจับไปรายละเอียดอันติดตามมา อย่างที่เรียกกันในทางวิชาการว่า “บริบท”แวดล้อม
เป็นบริบทอันแวดล้อม”รองอธิบดี” เป็นบริบทอันแวดล้อม”ผู้อำนวยการ”
แปรเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน