คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานครบรอบ 9 ปีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ว่าบทบาทของ ป.ป.ท. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีการพัฒนาขึ้น และไม่ควรที่หน่วยงานอื่นจะต้องกังวล

เพราะ ป.ป.ท. จะต้องทำงานตามกรอบของกฎหมาย หากมีอะไรไม่ถูกต้องชอบธรรม ก็จะต้องถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานอื่นๆ

เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ของรัฐสภา

ที่จะกำกับดูแลกันเป็นทอดๆ ไปอยู่แล้ว

คําถามที่ตามมาจากปาฐกถาดังกล่าวก็คือ แล้วในขณะที่มีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบบุคคลหรือหน่วยงานอื่น หน่วยงานตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. สตง. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จะให้ใครเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบ

หากยกอำนาจหรือหน้าที่นี้ให้กับรัฐบาล หรือหน่วยงานด้านบริหารแห่งใดแห่งหนึ่ง หน่วยงานตรวจสอบก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ

อาจจะมีความเกรงใจ จนกระทั่งการทำงานดำเนินการไปในลักษณะ “ลูบหน้าปะจมูก” โดยเฉพาะเมื่อเรื่องที่จะต้องตรวจสอบนั้นเกี่ยวพันไปถึงผู้มีอำนาจในทางการเมืองการบริหาร

ดังเช่นที่เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งในช่วงก่อนหน้านี้และในช่วงเวลาอันไม่นานนัก

ในสังคมที่อารยะแล้ว แม้ในเชิงโครงสร้างการบริหารองค์กรตรวจสอบเหล่านี้จะเป็นอิสระหรือจะสังกัดใครก็ตาม แต่จะมีหน้าที่รายงานต่อประชาชน หรือองค์กรที่ถือเป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนอย่างรัฐสภา

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อกำหนดเอาไว้ด้วยว่า ประชาชนทั่วไปสามารถขอเข้ามาตรวจสอบข้อมูลหรือการทำงานขององค์กรตรวจสอบเหล่านี้ได้

เพื่อเป็นการป้องปรามให้องค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าองค์กรอื่นๆ เหล่านี้ ดำเนินการด้วยความโปร่งใส

เพราะมีแต่การเปิดกว้างให้ถูกตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเท่านั้น จึงจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า

อำนาจการตรวจสอบนั้นจะไม่ถูกใช้ไปในทางที่มิชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน