คอลัมน์ รายงานพิเศษ

อันดับความโปร่งใสของประเทศไทยลดฮวบ หลังองค์กรเพื่อความโปร่งใส (ทีไอ) ประกาศรายงานดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2559

ประเทศไทยได้ 35 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 ของโลก ต่ำกว่าปี 2558 ที่ได้ 38 คะแนน อยู่ลำดับที่ 76

เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้คะแนนของไทยลดลง ทั้งๆที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ โหมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีต ป.ป.ช.

ขณะนี้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยแบบไทยๆ อำนาจบางส่วนจึงปราศจากการตรวจตราไปจริงๆ ดังนั้นอาจเป็นไปได้เหมือนกันที่เรื่องดังกล่าวเป็น สาเหตุหนึ่ง

อย่างที่เห็นกันอยู่บางครั้งมีข่าวเรื่องการทุจริตประพฤติ มิชอบแต่จู่ๆข่าวก็เงียบหายไป ยิ่งเรื่องที่กระทบต่อผู้หลัก ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ การตรวจสอบการทุจริตของบ้านเราจึงยังได้ผลน้อย เพราะระบบของความเกรงใจมีมากกว่า

กรณีองค์กรจัดอันดับความโปร่งใสเพิ่มเกณฑ์ความ เป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ มาพิจารณาด้วยนั้น ต้องยอมรับว่าขณะนี้ของเรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คงมีส่วนต่อการพิจารณา

การตรวจตราหรือทักท้วงอย่างจริงจังทำไม่ได้เหมือนในสภาวะปกติ ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์มีมากยิ่งขึ้น หรือถ้ามีคดีทุจริตแล้ว เกี่ยวพันกับคน ที่มีอำนาจ คนที่มีหน้าที่เข้ามาตรวจสอบก็ไม่กล้าที่ จะทำ การทุจริต จึงไม่ได้รับการปราบปรามอย่าง มีประสิทธิภาพ เหตุผลดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้คะแนนน้อย

ดังจะเห็นว่าไทยได้คะแนนน้อยกว่าเมียนมาเสียอีก เพราะตอนนี้เมียนมาร์เขาดีขึ้นมาก

เช่นกันคะแนนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจที่ได้น้อยลง เพราะมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐไปมีอำนาจในคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้ของเอกชน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่มีผลประโยชน์

บางครั้งอิงกับคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศจนแยกกันไม่ออก เป็นการเอาชื่อพวกมีอำนาจไปนั่งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการเพื่อให้กิจการนั้นๆได้รับการยกย่อง ยอมรับ เจริญรุ่งเรือง หรือทำอะไรที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยนิยมอย่างนั้น

เรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น มีองค์กรหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ จึงอยากให้ทำกันจริงๆ

และอยากฝากว่าก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสนั้น ไม่ว่าเดิมจะเป็นคนของใครหรือใต้บังคับบัญชาของใคร แต่เมื่อได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแล้วต้องสลัดความสำคัญนั้นให้หลุด ไม่ผูกพันกับเรื่องใดคนใดทั้งสิ้น

เพื่อให้องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงสถาบันเกี่ยวกับความ ยุติธรรมต่างๆ ได้รับความเชื่อถือมีความศรัทธาจากประชาชน ทำให้บ้านเมืองของเราได้รับความเชื่อถือมากขึ้น

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์

รองประธานอนุกมธ.ศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไก

การปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท.

ดัชนีชี้วัดมีหลายตัว เท่าที่เห็นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรื่องพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ก็ต้องปรับปรุง สิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญคือการขัดกันของผลประโยชน์และสินบน ซึ่ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจที่เขามองในเรื่องของความโปร่งใส

รัฐต้องพยายามพัฒนาปรับปรุงการให้บริการโดยมีกฎหมายมาป้องกัน ในข้อเท็จจริงว่าในทางปฏิบัติมีการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่ผ่านมาคนไทยเสพติดเรื่องการให้สินบน สินน้ำใจ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้รับการบริการ เราก็ต้องแก้โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บริหารประชาชน

ในเรื่องความไม่โปร่งใสมีทั้งการใช้เงินและการใช้อำนาจรัฐ เราใช้อำนาจค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้เลิกใช้อำนาจ ทุกชนิด หรือควรมีกรอบให้ประชาชนรับรู้ได้ซึ่งเป็นหลัก ธรรมาภิบาล

แต่เอาจริงๆ ไม่ได้เน้นจุดนี้เลย เพราะถ้าเป็นพรรคพวกกันได้ประโยชน์ก็ให้บริหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เรา ต้องแก้ ถ้าแก้ได้ปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะดีขึ้น

ผลจัดอันดับที่ออกมาไม่ค่อยผิดหวังเพราะเรายังไม่ค่อยได้ทำอะไรที่ตรงจุด และเป็นมุมในต่างประเทศที่เขามองเรา เราอาจทำหลายจุดจริงแต่ไม่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม ไม่ได้ทำในจุดที่เกี่ยวกับกฎหมายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นสิ่งที่เราไม่เอาจริงทั้งที่รัฐบาลนี้ก็กำหนดเป็นนโยบายว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ยังคาราคาซังอยู่ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งรัดสิ่งที่แสดงเจตนาที่จะบังคับใช้กฎหมาย

อีกเรื่องคือความจริงจังในเรื่องความผิดจากคอร์รัปชั่นกรณีที่มีคนร้องเรียน ต้องมีความโปร่งใส เพราะมีหลายครั้งตั้งกรรมการตรวจสอบกันเอง สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ความจริงต้องให้กรรมการจากข้างนอกมาตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการตรวจสอบมีความจริงใจในการทำงาน

การเพิ่มหลักเกณฑ์ ใช้เรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ มาประกอบนั้น โดยระบบแม้รัฐบาลไม่ใช่ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลักการประชาธิปไตยควรมีธรรมาภิบาลในเรื่องของการเปิดเผย มีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ก็ต้องอธิบายได้ว่าทำไมทำได้ ทำไม่ได้ และตรวจสอบได้

การตรวจสอบได้ คือการให้ข้อมูลข่าวสาร เปิดเวทีรับฟังความเห็น แต่สิ่งที่ผ่านมาในบางเรื่องรัฐบาลยังไม่เปิดเผยต่อประชาชน ดังนั้นระบบ การทำงานของรัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ในเรื่องของการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตัวชี้วัดการจัดอันดับดังกล่าวมาจากแหล่งข้อมูล 12 แหล่ง วางอยู่บนสมมติฐานว่าระบอบการปกครองที่ไม่ใช่แบบประชาธิปไตย จะมีแนวโน้มการทุจริตมากกว่า เนื่องจากไม่เอื้อประชาชนทุกภาคส่วนใช้สิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่

สะท้อนชัดถึงสิ่งที่ป.ป.ช.ชี้แจงว่าฟังไม่ขึ้น เพราะไม่สามารถนำเกณฑ์ชี้วัดเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาอ้างว่าทำ ให้เราสอบตก หนทางการแก้ปัญหา จึงอยู่ที่การกลับคืนสู่ระบอบการเมืองที่ เปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ภาครัฐ

อันดับที่ดีขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และพม่า ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าการพัฒนาการทางประชาธิปไตยจะนำไปสู่การมีธรรมาภิบาลของภาครัฐมากกว่าระบอบการปกครองอื่น เพราะมันมีช่องทางการตรวจสอบอย่างกว้างขวาง

ลำพังการเน้นดำเนินนโยบายการปราบปรามการทุจริตของภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสอบตกตั้งแต่ที่มาของรัฐบาล อีกทั้งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีภาคประชาสังคมพยายามตรวจสอบภาครัฐหลายครั้ง แต่ก็ถูกกีดกัน

ผลกระทบจากอันดับที่หล่นมาอยู่ 101 จะเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจ ในแง่ของการค้าการลงทุนโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ภาคเอกชนที่ประเมินความเสี่ยงของการลงทุนในประเทศไทย อาจนำดัชนี้นี้ไปใช้ในการประเมินความโปร่งใสของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ทางแก้ปัญหาจุดนี้ ภาครัฐก็จะต้องชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจให้การลงทุนในประเทศควบคู่ไปกับคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อความสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดนักลงทุน

อย่าดำเนินการในลักษณะตอบโต้ เพราะการหักไม้บรรทัดสากลที่ประชาคมโลก ใช้เป็นมาตรฐานการประเมินจะไม่มีประโยชน์อะไร

สุนัย ผาสุก

ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย

หากดูจากการประเมินสะท้อนภาพความเป็นจริงที่ต่างประเทศมองระบอบการปกครองวันนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโอกาสให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะ อำนาจคสช. เป็นอำนาจที่ปิดกั้นการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระของประชาชนและภาคประชาสังคม

ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายช่วงที่สถาบันจัดอันดับเรื่องความโปร่งใสประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคนที่พยายามจะตรวจ สอบ คสช. หรือรัฐบาล ถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อครหาเรื่องการทุจริต หรือการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่คนเห็นต่างและออกมาคัดค้านถูกจับกุม ดำเนินคดี และนำตัวไปเข้าค่าย

ในรายงานระบุตรงไปตรงมาว่าการที่คสช.ใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากสถาบันใดเลย ยกตัวอย่างเรื่องอำนาจมาตรา 44 ถือว่าเป็นอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล สิ่งนี้เป็นปัญหาว่าไม่ทำให้เกิดปัจจัยเรื่องความโปร่งใส

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพที่ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนถูกปิดกั้นเสรีภาพในการทำงาน การตรวจสอบ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่รวมเข้ามา ทำให้รากฐานของดัชนีที่นำมาประกอบในการประเมินคะแนนถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนผลทางการเมืองคือทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และคสช. ที่อ้างตั้งแต่การยึดอำนาจเป็นต้นมาว่าเข้ามาเพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่กลายเป็นว่าวิธีการใช้อำนาจของคสช.กับรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากนานาชาติว่าเป็นวิธีการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การปราบปรามคอร์รัปชั่นได้อย่างแท้จริง

ส่วนกรณีป.ป.ช.ระบุว่าปีนี้เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาโดยวัดความหลากหลายทางประชาธิปไตยเป็นเหตุผลประกอบด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลระบุในรายงานชัดเจนว่าการขาดความเป็นประชาธิปไตย การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การถูกจัดอันดับของประเทศไทยถดถอยลง

เขาได้เจาะจงตัวอย่างช่วงทำประชามติรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนมากว่ามีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และแม้รัฐ ธรรมนูญฉบับนี้จะพูดถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่การ ใช้อำนาจของคสช.กลับไม่เอื้อให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

ส่วนเรื่องของประชาธิปไตยที่ขณะนี้ไทยยังแพ้เมียนมาร์ กับฟิลิปปินส์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหรือคสช.เดินได้ถูกทางหรือไม่ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่รากเหง้าของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคสช.ไม่เอื้อให้การสร้างความน่าเชื่อถือของธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง คือ ภายในระบอบการปกครองของคสช.เป็นไปไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดการตรวจสอบที่โปร่งใส

ดังนั้นหากรัฐบาลไทยต้องการยกระดับให้ดีขึ้น คือการกลับมาเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องไปคิดหาวิธีอื่น และยุติการใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น อำนาจตามมาตรา 44

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน