การออกมาอธิบายในเรื่องผลักดัน คำสั่ง 66/23 จาก นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ในสถานการณ์”ปรองดอง”มีความจำเป็น 1 เพราะถูก”ปฏิเสธ” ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ดำเนินไปอย่างชนิด “ทันควัน” ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญมากกว่าเพราะเกิดความคลาดเคลื่อนกระทั่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด

เป็นปัญหาในเรื่อง “สื่อสาร”

แก่นแท้ในการเสนอมิใช่ตัวคำสั่ง 66/23 หากแต่เป็นแนวทางซึ่งสรุปได้อย่างรวบรัดยิ่ง คือ แนวทาง “การเมืองนำการทหาร”

การเดินทาง “การเมือง” มีความจำเป็นเสนอต่อสถานการณ์ในการ”ปรองดอง”

ไม่ว่าเมื่อปี 2523 ไม่ว่าในปี 2560

ความเป็นจริง คำสั่ง 66/23 มิได้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเฉพาะตัวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หากแต่ “บทสรุป” จาก”ผลึกร่วม”ในทางความคิด

ลองไปอ่านระเบียบการ”พรรคสหประชาไทย”ที่เสนอตั้งแต่หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ประกาศและบังคับใช้

จะสัมผัสได้ใน “เบาะแส” และ”ร่องรอย”

เพียงแต่ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรค หรือแม้กระทั่ง พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เลขาธิการพรรค มิได้สนใจอย่างจริงจัง

มีเฉพาะ พล.อ.แสวง เสนาณรงค์ เท่านั้นที่เอาจริงเอาจัง

ต่อมา ความคิดที่สะท้อนผ่าน”ระเบียบการพรรคสหประชาไทย”ก็เผยแพร่ผ่านบรรดานายทหาร นายตำรวจที่ทำงานเกี่ยวกับ “คอมมิวนิสต์”อย่างเงียบๆ

ไม่ว่าจะเป็น พ.อ.หาญ พงศ์สิตานนท์ ไม่ว่าจะเป็น พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากนั้นก็ไปคึกคักเป็นอย่างมากใน “กองทัพภาคที่ 2”

นายทหารที่คุมกำลังและนำหลักการ”การเมืองนำการทหาร”ไปลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างน้อยก็มี 2 คน

คน 1 คือ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 อีกคน 1 คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2

แต่คนที่นำมาขยายผลคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เป็นการขยายผลโดยมีมือทำงาน 2 คน 1 คือ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ 1 คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

จึงกลายมาเป็น คำสั่งที่ 66/23 ลงนามโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนเมษายน 2523 ในฐานะแห่ง “นายกรัฐมนตรี”

จึงเหมือนกับเป็นของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือ “สมบัติร่วม” คือ “ภูมิปัญญาร่วม”ภายใต้หลักการ “การเมืองนำการทหาร”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน