เหตุใดเราจึงทำผิดซ้ำๆ เทียบจิตใจไม่ต่างจาก “ไซโคพาธ (โรคจิต)”

โรค “ไซโคพาธ” (Psychopath) เป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ‘อาการ’ ของคนที่เป็นโรคนี้จะไม่มีความรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ได้กระทำ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และยึดมั่นในความถูกต้องของตัวเองเพียงอย่างเดียว พฤติกรรมที่สังเกตได้ง่ายเลยก็คือ มักจะทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็น่าแปลกนะครับ บางครั้งคนทั่วไปอย่างเรา ที่สมองปกติดีทุกอย่างกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากคนที่เป็นโรค “ไซโคพาธ” เลย

ผมสังเกตจิตใจของหลายคนที่เข้ามาปรึกษาผม พบว่าในหลายครั้งเราจะมองไม่เห็นความผิดของตัวเอง แล้วก็ตั้งกฎหรือเหตุผลบางอย่างขึ้นมา เพื่อมาปกป้องตัวเอง

ในประเทศเกาหลีใต้ ชายวัย 50 ปีรายหนึ่งถูกจับด้วยข้อหา “ฆ่าคนตาย” เป็นครั้งที่ 3 ในชีวิต เมื่ออ่านเจอข่าวแบบนี้พวกคุณคิดอย่างไรครับ บางคนอาจจะมองว่า ข่าวแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ และบางกรณีก็รุนแรงกว่ามาก แต่คุณเคยนำมาทบทวนกับจิตใจของตัวเองบ้างไหมครับ ว่าการฆ่าคนสักคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกชินชา?

โดยปกติถ้าเห็นคนตายก็จะสลดใจ เสียใจ ยิ่งถ้าเราเป็นคนลงมือทำยิ่งต้องรู้สึกผิดมากๆ แต่ที่น่าตกใจคือ ขณะให้สัมภาษณ์คุณลุงท่านนี้กลับบอกว่า “ฉันไม่ผิดและคนนั้นสมควรแล้วที่ต้องตาย” จากการสอบสวนพบว่า สาเหตุการฆาตกรรมเกิดจากคุณลุงโมโห คนที่ต่อแถวร้องคาระโอเกะก่อนหน้าที่ไม่ยอมหยุดร้องเพลง ทำให้ไม่ได้ร้องเพลงเสียที จึงทนไม่ไหวคว้ามีดขึ้นมาแทงจนเสียชีวิต!!

ทำไมชายคนนี้ถึงได้ฆ่าคนง่ายๆ โดยที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือการถูกทำโทษ? นั่นเป็นเพราะว่า ในใจของเขาไม่เคยมองว่าตัวเองผิดครับ แค่มีใจนี้เพียงใจเดียวก็สามารถฆ่าคนอย่างไร้ความรู้สึกได้และยังคงยิ้มอยู่ในใจได้ว่า “ฉันทำถูกแล้ว” เมื่อสืบประวัติไปเรื่อยๆ จึงได้รู้ว่า เขาก่อเหตุฆาตกรรมครั้งแรกตอนอายุ 17 ปี สาเหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาท และยิ่งไปกว่านั้น ชายคนนี้เข้า-ออกเรือนจำมาแล้วกว่า 24 ครั้ง เมื่อความถูกต้องของตัวเองฝังลึกลงไปในใจเรื่อยๆ เขาก็ได้แต่จมอยู่กับการทำผิดซ้ำๆ ตลอดมา

หากคนเรามองเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นน่ารังเกียจ ไม่มีทางเลยครับที่จะทำสิ่งนั้นต่อไปได้ เหมือนคนที่เห็นข้อเสียของตัวเองก็จะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองนั่นแหละครับ

ผมขอยกตัวอย่าง ดล เด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ก่อนหน้าที่เขาจะมารู้จักกับผม เขาเคยติดคุกเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่ออกจากคุกแล้ว ก็มาอาศัยอยู่กับผมที่มูลนิธิฯ IYF ดลเล่าว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่า ที่ผ่านมาเขาใช้ชีวิตทำร้ายคนอื่น และตัวเองมากเพียงใด ด้วยการข้องเกี่ยวกับยาเสพติด

ถึงแม้ว่าคนรอบข้างจะพยายามห้าม เขาก็ไม่สนใจโดยสร้างเหตุผลที่ดูดีว่า “อย่างน้อยฉันก็หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระครอบครัวเหมือนใครหลายๆ คน” เมื่อมีจิตใจแบบนี้จึงไม่รู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำ
หลังจากที่ใช้ชีวิตกับสมาชิกที่มูลนิธิฯ ผ่านคำตักเตือน และการชี้ข้อเสียของเขา แน่นอนว่าช่วงแรกเขาคงรู้สึกไม่ชอบใจกับคำต่อว่า แต่เมื่อได้ทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว ก็พบว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นว่า ‘ถูกต้อง’ สุดท้ายก็ลากเขาให้กระทำผิดจนต้องติดคุก และไร้อนาคต

ตอนนั้นเขาจึงเกิดคำขอโทษ และคำขอบคุณกับคนรอบข้างได้ การที่ได้เห็นว่า “ฉันผิด” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงครับ ดลเริ่มอยากใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น เริ่มมีความสุขกับการที่ได้เห็นคนรอบข้างมีความสุข และเริ่มคิดถึงอนาคตตัวเองมากขึ้น

มนุษย์ถูกสร้างให้มีจิตใจครับ คนเราจึงสามารถมีจิตสำนึก มีความรู้สึกผิดเมื่อกระทำผิดได้ แต่คนสมัยนี้กลับเริ่มไม่อยากยอมรับความผิดตัวเอง และมีข้อแก้ตัวที่เอามายืนยันความถูกต้องอย่างรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นถึงแม้ว่าร่างกายยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค “ไซโคพาธ” แต่ผมก็มองว่าหลายครั้งจิตใจเราก็ไม่ได้ต่างจากคนเป็นโรคเลยครับ

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ค้นพบสติปัญญาที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตผ่านทางคอลัมน์นี้ สติปัญญาที่แท้จริงคือ การได้รู้จักข้อบกพร่องของตัวเองนะครับ ยิ่งทำผิดก็ยิ่งได้เห็นว่าตัวเองบกพร่อง และตอนที่ยอมรับในข้อผิดพลาดนั้นเองคุณจะสามารถได้รับการแก้ไขได้


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน