บทบรรณาธิการ : ไปรเวต

บทบรรณาธิการ – การทดลองเปิดโอกาสให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวตแทนชุดนักเรียนในทุกวันอังคารของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สร้างความคึกคักให้แก่วงการการศึกษาไทยไม่น้อย

แม้หลายคนเห็นว่าเรื่องชุดนักเรียนไม่สำคัญเท่ากับการปฏิรูปการศึกษา หรือการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ

แต่ถึงอย่างไรประเด็นชุดเครื่องแบบเป็นเรื่องที่น่าสนใจและชวนคิดพิจารณา เป็นเรื่องใกล้ตัวนักเรียน และเห็นผลชัดเจน

การทดลองของโรงเรียนเอกชน กรุงเทพคริสเตียนฯ จึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องชุด แต่เป็นการตั้งคำถามที่เปิดกว้างให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันคิด ถกเถียงด้วยเหตุผล

อีกทั้งการได้โอกาสทดลองทำ ถือเป็นแนวโน้มด้านบวกในวงการการศึกษา

ปัญหาหนึ่งของวงการการศึกษาไทยการใช้ระบบราชการเข้ารวมศูนย์จนมีขนาดใหญ่ แม้ว่าบุคลากรในวงการนี้เต็มไปด้วยคนเก่งและมีประสบการณ์สูง แต่ระบบเป็นอุปสรรคต่อการขยับปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือนโยบายให้ทันสถานการณ์

กรณีการทดลองให้ชุดนักเรียนใส่ชุดไปรเวต หรือการทดลองปรับเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ ยากจะเกิดกับโรงเรียนของรัฐ ทั้งที่เด็กในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้มีชุดเครื่องแบบนักเรียนใส่และอาจไม่รู้จักว่าชุดไปรเวตคืออะไร เพราะเพียงแค่จำนวนครูที่สอนและดูแลเด็กก็อาจเป็นปัญหาจนไม่มีโอกาสจะทดลองแนวทางการเรียนการสอนใดๆ ได้

สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

ขณะที่ผลศึกษาวิจัยจำนวนไม่มากของนักวิชาการต่างประเทศ บ้างระบุว่า เครื่องแบบไม่มีผลต่อการเรียน บ้างว่าชุดเครื่องแบบนักเรียนสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี นักเรียนไม่โดนรบกวนสมาธิจากการแต่งกาย และไม่ตกเป็นเหยื่อของการล้อเลียนจากเพื่อน

ข้อถกเถียงเหล่านี้คล้ายกับประเด็นที่พูดคุยกันในสังคมไทย แต่ที่ไม่เหมือนกันคือ ระบบการควบคุมนักเรียนของไทยที่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเสื้อผ้า หากขยายไปถึงวิธีการคิดที่ถูกตีกรอบ

ทุกวันเด็ก นักเรียนอาจต้องตอบคำถามว่าคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้คืออะไร

ทั้งที่คำขวัญนั้นไม่ได้มาจากเด็ก แต่มาจากผู้ใหญ่ที่ต้องการให้เด็กเป็นเด็กดีในความคิดของตน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน