สาวซาอุฯโมเดล : บทบรรณาธิการ

สาวซาอุฯโมเดล : บทบรรณาธิการ การลงเอยด้วยดีกรณีหญิงสาวซาอุดีอาระเบีย อายุ 18 ปีหนีครอบครัวมายังสนามบินสุวรรณภูมิของไทยเพื่อตั้งต้นขอลี้ภัย จนบรรลุเป้าหมายและเดินทางไปยังแคนาดาแล้ว ทำให้ทุกฝ่ายโล่งใจ

เหตุการณ์ที่เริ่มตั้งแต่หญิงสาวเข้ามาประเทศไทยวันอาทิตย์ที่ 6 ม.ค. และออกไปวันที่ 11 ม.ค. มีจุดพลิกผันที่ท่าทีและการรับมือของเจ้าหน้าที่ทางการไทย

เดิมที่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ เปลี่ยนมาใช้หลักมนุษยธรรมประกอบการพิจารณา และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้ามาดูแลหญิงสาวซาอุฯ จึงช่วยทำให้ภาวะยุ่งเหยิงและขัดแย้งคลี่คลายไปตามหลักปฏิบัติสากล

นักสิทธิมนุษยชนหลายคนเห็นว่า พลังของโซเชี่ยลมีเดียมีส่วนสำคัญต่อความเป็นไปในคดีนี้

หากเทียบกับกรณีชาวอุยกูร์ที่เคยลักลอบเข้าไทยและถูกส่งกลับไปจีนนับร้อยชีวิตเมื่อปี 2558 แทบไม่ปรากฏข้อมูลว่าคนเหล่านี้เป็นใครประสบอะไรมา มีเพียงข้อมูลด้านเดียวจากเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่หญิงสาวซาอุดีอาระเบียใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารให้ผู้คนทั่วไปรับทราบถึงการเสี่ยงภัยของตนเอง ความต้องการลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิสตรีและเสรีภาพในการนับถือศาสนา จนผู้คนในโลกออนไลน์พร้อมใจติดแฮชแท็ก #SaveRahaf

สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทางการไทยได้เข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติที่ถูกทิศทาง และต้องแสดงให้เห็นว่าไม่อาจกระทำการแข็งกร้าวต่อหญิงสาวคนหนึ่งได้ ในขณะที่สังคมโลกแสดงออกทางโลกโซเชี่ยล ว่าต้องการให้หญิงสาวได้รับการปกป้อง

จากหลักปฏิบัติของไทยที่ทำให้กรณีหญิงสาวซาอุฯ ลงเอยอย่างสันติ เชื่อได้ว่าจะเป็น ต้นแบบให้แก่เจ้าหน้าที่ของไทยที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

หลังจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องมาตลอดเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย โดยเฉพาะควรหารือกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เพื่อคุ้มครองบุคคล ระหว่างการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

เพราะการจะส่งตัวบุคคลต่างด้าวไปยังที่ใดนั้น มิใช่เพียงการรีบส่งไปให้พ้นตัวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นสำคัญ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน