ช่องว่างประชาธิปไตย : บทบรรณาธิการ

ช่องว่างประชาธิปไตยการปะทะทางความคิดระหว่างผู้มีอำนาจกับกลุ่มนักกิจกรรมรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง บ่งบอกว่าช่องว่างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยยังเป็นช่องว่างที่กว้างและห่างกันมาก

หากจะลดช่องว่างนี้ลง จำเป็นต้องใช้ความอดทนและเปิดใจกว้างในการเรียนรู้ โดยเฉพาะกับฝ่ายมีอำนาจที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการถกเถียงและแสดงออกอย่างสันติของอีกฝ่าย

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนเป็นประการแรกคือการกล่าวหาด้วยกรอบความคิดชุดเดิม ว่าการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพอย่างสันติคือความวุ่นวาย เพราะถูกบงการหรือถูกสั่งมา

หากยังไม่หลีกเลี่ยงแนวคิดและวิธีเดิมเช่นนี้ จะเกิดความเสี่ยงให้ใช้ความรุนแรง อีกครั้ง และทำให้ประเทศไม่อาจหลุดจากวงจรความวุ่นวายที่แท้จริง

ช่องว่างประชาธิปไตย

ปัจจัยสำคัญอีกด้านที่จะช่วยลดบรรยากาศความขัดแย้งและความคับข้องใจของประชาชนกลุ่มต่างๆ คือการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้แสดงออกทางการเมือง

กรณีการจับกุมสมาชิกผู้ชุมนุมทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะใช้เสียงปราศรัยเกิน 115 เดซิเบลตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

เนื่องจากปัญหาการใช้เครื่องเสียงส่งเสียงรบกวนนั้นพบเห็นได้ทั่วไป เช่นเดียวกับการก่อมลพิษอื่นๆ ตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และกฎหมายด้านสาธารณสุข เมื่อประชาชนร้องเรียน ก็มีทั้งการตอบสนองและละเลยจากเจ้าหน้าที่

กรณีนี้จึงอาจถูกมองว่า การใช้กฎหมายเป็นไปเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อห้ามปรามการชุมนุม

สิ่งที่น่าวิตกที่สุดในช่องว่างทางความคิดว่าด้วยประชาธิปไตยขณะนี้คือการสรุปความว่า กลุ่มรณรงค์การเลือกตั้งเคลื่อนไหว โดยไม่คำนึงถึงการจัดงานพระราชพิธี อันเป็น การกล่าวหาและกระตุ้นความขัดแย้งอย่าง ไม่เหมาะสม

ในเมื่อฝ่ายรณรงค์เลือกตั้งเห็นว่ากำหนดเวลาเลือกตั้งถูกเลื่อนออกมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ละเมิดสิทธิของประชาชน

ดังนั้นฝ่ายตัดสินใจและกำหนดวันเลือกตั้งต้องอธิบายข้อมูลให้แน่ชัด เพื่อสร้างความเข้าใจว่าการเลือกตั้งจำเป็นต้องเลื่อนหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร และจะเลือกตั้งได้เมื่อใดโดยไม่ต้องเลื่อนอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน