บทบรรณาธิการ : แก้ฝุ่นละออง

บทบรรณาธิการ : บุคคลในรัฐบาลมีความมั่นใจว่า ปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะหมดไป เมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จสิ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้นถือว่าช่วงเวลานี้ หน่วยงานทุกฝ่ายแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน

แต่หากพิจารณาว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับปัจจุบัน ปี พ.ศ.2535 ปรับปรุงมาต่อเนื่องจากจากปี 2518 เท่ากับมีผลบังคับใช้ 44 ปี

ส่วนประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีเรื่องกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป อีกทั้งยังมีประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ ใช้มานานกว่า 24 ปี

จึงน่าสงสัยว่า กฎหมายที่มีและการบังคับใช้กฎหมายนั้นเพียงพอหรือไม่

กรมควบคุมมลพิษชี้แจงเรื่องฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน ว่า มักจะเกิดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี

สาเหตุที่ประเมินไว้ ร้อยละ 60 เกิดจากเครื่องยนต์ ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จากจำนวนรถยนต์เครื่องดีเซล 2.5 ล้านคัน ส่วนร้อยละ 35 เกิดจากการเผาไหม้ในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม

เมื่อระบุสาเหตุของปัญหาแล้ว ก็น่าจะแก้ไข ตรงสิ่งนั้น เช่น ตรวจสภาพเครื่องยนต์ดีเซลที่มาขอต่อทะเบียนรถยนต์ หากไม่ผ่านต้องปรับการสันดาปให้สมบูรณ์ก่อนต่อใบอนุญาตให้

หากเกิดจากการเผาไหม้จากการเกษตรกรรมก็จับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิด และหากเกิดจากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ต้องไปสำรวจตรวจสอบจัดการ

ที่สำคัญคือต้องจัดการอย่างสม่ำเสมอตรงไปตรงมา

ขณะนี้ประเทศไทยมีคณะกรรมการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่หลายชุด เมื่อบวกกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย

แต่มาถึงวันนี้ ผลการบังคับใช้บ่งบอกว่ากลไกนี้ ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลใดตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

จึงสมควรหรือไม่ที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ ประกาศข้อบังคับ และวิธีการในการจัดการนี้เสียใหม่

ผู้ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อจะเข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในรัฐสภา น่าจะต้อง หานโยบายมานำเสนอประชาชนที่ทำได้ทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องรอเวลา 3 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน