บทบรรณาธิการ

 

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีประเด็นน่าสนใจอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก 375 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก กระตุ้นให้ชาวอเมริกันคำนึงว่าไม่ควรเลือกคนที่จะบั่นทอนความพยายามลดโลกร้อน

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็ชัดเจนว่าใช่ เพราะทรัมป์เคยพูดถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงที่แต่งขึ้น ดังนั้นจะต้องยกเลิกข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำชาติต่างๆ เพิ่งให้สัตยาบันกันไป

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกโรงเพราะต้องการย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นไม่ใช่ความเชื่อ หรือการสมคบคิด แต่เป็นความจริง

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ให้แง่คิด เพราะหากไม่รู้จักแยกแยะความเชื่อกับความจริงออกจากกัน การแก้ไขปัญหาจะเกิดได้ยาก

ผู้ที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์ จะตัดสินเรื่องใดย่อมดูข้อมูลหลักฐาน เช่น กรณีที่โลกร้อนขึ้น ดูได้จากอุณหภูมิผิวดิน อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทร และการลดลงของชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ยังดูต้นตอของความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมินี้ ได้แก่ การเผาผลาญน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ก่อนที่จะสรุปทางแก้ไขปัญหาว่า ต้องลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก

กระบวนการคิดโดยหลักวิทยาศาสตร์นี้จึงไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน อีกทั้งยังแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและตรงไปตรงมา

ในทางการเมืองก็เช่นกัน การแก้ไขปัญหาต่างๆ หากใช้หลักวิทยาศาสตร์ก็จะได้หนทางแก้ปัญหา

เมื่อเร็วๆ นี้มีความเห็นจากนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคในเรื่องรัฐประหาร คนหนึ่งเห็นว่ารัฐประหารเป็นหนทางที่ผิดมาก ทำให้ประเทศหยุดนิ่งและเสียโอกาสมากมาย แต่อีกคนเห็นว่าควรต้องดูเงื่อนไขของการรัฐประหารด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นความผิดของคนที่เข้ามาทำรัฐประหารอย่างเดียว

กรณีนี้หากคิดเปรียบเทียบกับภาวะโลกร้อนแล้ว หนทางชะลอภาวะโลกร้อนได้คือต้องลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่การไปคิดหาเงื่อนไขความจำเป็นที่ต้องปล่อยก๊าซ

เพราะถ้ามีข้ออ้างหรือความเชื่อเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ โลกก็คงร้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน