บทบรรณาธิการ : ใต้รุนแรง

ใต้รุนแรงเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงสังหารพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป รวมถึงเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ หรือวัดโคกโก ที่ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ตอกย้ำถึงความรุนแรงในพื้นที่ล่อแหล่มจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นปัญหามาเป็นระยะ

ทั้งที่ความรุนแรงไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ว่าต่อฝ่ายใด แต่ก็มีเกิดขึ้นเสมอ

ปัจจัยหนึ่งคือมีอาวุธจำนวนมากในพื้นที่เสี่ยง เหล่านี้ ไม่ว่าจากการขายหรือการลักลอบ อีกปัจจัยคือมีแรงเร้าจากแนวคิดสุดโต่งและอารมณ์ทางสังคม

หนทางของสันติวิธีเป็นเรื่องของความอดกลั้น สร้างความไว้วางใจ ให้อภัย และใช้ปัญญา แต่การใช้ความรุนแรงเป็นเพียงความสะใจ อีกทั้งอาจมีเป้าหมายทำลายสันติวิธีโดยตรง

บทบรรณาธิการ : ใต้รุนแรง

การประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ควรทำโดยปกติ และควรตั้งอยู่บนจุดยืนที่ไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ

การหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ใช่เรื่องโลกสวย แต่เป็นการคำนึงถึงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่ต้องเสี่ยงภัยในวงจรความรุนแรงไม่รู้จบ

วิธีการที่ทางการไทยเคยใช้จัดการปัญหาชายแดนภาคใต้คือการปราบด้วยการทหาร และปฏิเสธพูดคุยอย่างเป็นทางการอย่างเปิดเผยกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง

แม้ต่อมาจะเริ่มปรับตัวบ้างเมื่อมีบทเรียนว่าการคลี่คลายความขัดแย้งและลดความรุนแรงในพื้นที่ทั่วโลกล้วนเกิดจากการเจรจา

รัฐบาลไทยในปี 2556 เคยพยายามเริ่มต้นการเจรจาอย่างจริงจัง ด้วยการลงฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้แก่ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

แต่กระบวนการติดขัดและชะงักงันไปหลายช่วง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

แม้มีการเปลี่ยนคณะเจรจาและแสดงออกว่าจะยังพูดคุย แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ในที่นี้รวมถึงข้อเสนอให้มีตัวแทนจากนานาชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย

เรื่องที่น่าวิตกคือเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น การเจรจาที่ถูกจำกัดอยู่แล้วอาจถูกมองข้ามไปเรื่อยๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน